‘บราซิล’ ชี้ ‘สปุตนิก วี’ เป็นวัคซีนบกพร่องสูง - ห้ามนำเข้า
"บราซิล" ประกาศห้ามนำเข้าวัคซีน "สปุตนิก วี" ของรัสเซีย ชี้บกพร่อง และมีความเสี่ยงสูง ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายแบบ
คณะกรรมการ Anvisa ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของบราซิล ได้สั่งห้ามนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ซึ่งเป็นวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ผลิตโดยรัสเซีย หลังจากเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของคณะกรรมการ Anvisa ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงโดยทั่วไป และความบกพร่องที่ร้ายแรงของวัคซีน เมื่อพิจาณาจากข้อมูลด้านการรับรองความปลอดภัย, คุณภาพ และประสิทธิภาพของวัคซีน
อานา แคโรลินา โมเรียรา มาริอาโน อารัวโจ ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจการด้านสาธารณสุขของ Anvisa กล่าวว่า หลังจากที่ได้พิจารณาเอกสารทั้งหมด, ข้อมูลที่รวบรวมได้ในระหว่างการตรวจสอบรายบุคคล และข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ นั้นพบว่า วัคซีนสปุตนิก วี มีความเสี่ยงโดยทั่วไป และถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
ขณะที่นายกัสตาโว เมนเดส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพและเภสัชภัณฑ์ของ Anvisa ระบุว่า ประเด็นที่สำคัญก็คือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ที่ปรากฎจำนวนเพิ่มขึ้นในวัคซีนนั้น ซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงมาก โดยอะดีโนไวรัสนั้นเป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่นเป็นหวัด ตาแดง เส้นเสียงอักเสบ หลอดลมส่วนปลายอักเสบ และปอดบวม
อะดีโนไวรัสถูกใช้เป็นไวรัสตัวนำสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ซึ่งอะดีโนไวรัสที่เป็นเพียงไวรัสตัวนำนั้นไม่ควรจะเพิ่มจำนวนได้อีกเนื่องจากถูกตัดแต่งทางพันธุกรรมแล้ว ดังนั้นการเพิ่มจำนวนของอะดีโนไวรัสในวัคซีนสปุตนิกไฟว์จึงถือเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะให้การรับรองวัคซีนสปุตนิกไฟว์ และนักวิทยาศาสตร์รัสเซียก็อ้างว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 97.6% แต่หน่วยงานสาธารณสุขของบราซิล และสหภาพยุโรปยังไม่ให้การอนุมัติ เนื่องจากจำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งในด้านผลการทดลองและกระบวนการผลิต
การสั่งห้ามนำเข้าวัคซีนสปุตนิกไฟว์มีขึ้น แม้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ ในบราซิลได้ยื่นคำร้องให้ Anvisa ออกใบรับรองการนำเข้าวัคซีนดังกล่าว เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมานั้น โครงการฉีดวัคซีนของบราซิลเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งส่งผลให้บราซิลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในปีนี้ อีกทั้งยังทำให้ระบบสาธารณสุขของบราซิลใกล้เข้าสู่ภาวะล้มเหลว