‘ทูตละตินอเมริกา’ ชวนลงทุน ฟื้นการค้า หลังวิกฤติโควิด

‘ทูตละตินอเมริกา’ ชวนลงทุน  ฟื้นการค้า หลังวิกฤติโควิด

วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) นำมาซึ่งความพยายามใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการติดต่อการค้าการลงทุน แม้ประเทศอยู่ห่างไกลกัน

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสภาธุรกิจไทย-ละตินอเมริกา จัดเวทีสัมมนาเปิดให้เอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียน ประจำประเทศไทย 9  แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และเปรู ร่วมเชิญชวนนักลงทุนไทยได้มองเห็นศักยภาพและโอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

161970501398

'ชิลี' ฮับการเงินแห่งละตินฯ

ชิลี ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งละตินอเมริกา ทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก และผลิตไวน์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก

“คริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต” เอกอัครราชทูตชิลี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ชิลีเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ดีที่สุดในอเมริกาใต้ พร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หลังโควิด-19

      รายงานของธนาคารกลางชิลี ระบุว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ชิลีมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มูลค่า 7,156 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเอฟดีไอ อยู่ที่ 5,306 ล้านดอลลาร์ สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศว่ามีความยืดหยุ่นสูง ภายใต้นโยบาย อินเวสต์ชิลี (InvestChile) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ หลังไวรัสระบาด

161970520334

'เม็กซิโก' ประตูสู่การค้า

เม็กซิโกเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองในละตินอเมริกา และอันดับ 14 ของโลก ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเม็กซิโกจะเติบโตเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2593

“เบร์นาโด กอร์โดบา เตโย” เอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เม็กซิโกมีความโดดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ตรงกลางทวีปอเมริกา มีทรัพยากรที่หลากหลาย ในราคาแข่งขันได้ และมีแรงงานอายุน้อยจำนวนมาก ค่าจ้างแรงงานต่ำ เมื่อพิจารณาเกณฑ์การแข่งขันเหล่านี้ ตอกย้ำว่าเม็กซิโกเป็นประเทศเหมาะสมกับการลงทุนที่สุด

161970516331

สินค้านำเข้าและส่งออก รวมถึงประเภทอุตสาหกรรมของเม็กซิโกกับไทยอาจคลายคลึงกัน แต่เม็กซิโกมีชายแดนติดกับสหรัฐ และเป็นประตูสู่ละตินอเมริกา ซึ่งนักลงทุนไทยจะได้ประโยชน์จากตรงนี้

“อุตสาหกรรมใหญ่ที่จะเป็นโอกาสกับนักลงทุนไทย ได้แก่ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตรถยนต์ และการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ตลาดเม็กซิโกยังเป็นโอกาสให้กับการส่งออกสินค้าไทย ตั้งแต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องยนต์ เครื่องจักร พาสติกและยาง ผลิตภัณฑ์จากโลหะต่างๆ” ทูตเม็กซิโก ระบุ

ตลาดอีคอมเมิร์ซในเม็กซิโกยังเติบโตสูงมาก โดยมีมูลค่าสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2562 หรือขยายตัวสูงถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

161970526256

'กัวเตมาลา' เชื่อมตลาดการค้าใหญ่

กัวเตมาลา มีความน่าสนใจในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategic) ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ และยังใกล้ชิดกับตลาดขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐ เม็กซิโกและแคนาดา นับเป็นโอกาสด้านการค้า การเงิน และโลจิสติกส์

“คาร์ลอส ฮัมเบอร์โต จิมเมอเนซ ลีโคนา” เอกอัครราชทูตกัวเตมาลา ประจำประเทศไทย ชี้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่เพียบพร้อมเหมาะเป็นศูนย์กลางการผลิตหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมประเภทเบา ทั้งทอผ้า ผลิตอาหารแช่แข็ง การสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีการเกษตร 

161970541212

แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า กัวเตมาลาส่งออกสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแปรรูป เครื่องแต่งกาย อาหารผลไม้แปรรูป มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด หรือมีมูลค่า 11,568 ล้านดอลลาร์

กัวเตมาลามีสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าร้อยแห่ง เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ย้อนรอยตั้งแต่ยุคมายัน สเปน บุกเบิกอเมริกา และมีแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันก้าวสู่กรีนอีโคโนมี

‘ปานามา’ ประสบการณ์ท่าเรือระดับโลก

"อิตเซล การินา เชน ชัน" เอกอัครราชทูตปานามา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปานามาขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ในฐานะที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ คลองปานามาเชื่อมเส้นทางการค้า การขนส่งทางบกที่ทันสมัย และเครือข่ายสนามบินทั่วโลก ซึ่งจะส่งเสริมศักยภาพเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

"ปานามามีท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อส่งและรับสินค้าไปยังท่าเรือ 152 แห่งใน 54 ประเทศ บนเส้นทางการเดินเรือ 144 เส้นทาง มีซูเปอร์ไฮเวย์ขนส่งสินค้าจากท่าเรือไปยังยังสนามบิน และยังมีเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทาง 89 แห่งทั่วโลก โดยในปี 2560 พบว่า มีตู้คอนเทนเนอร์สินค้า 7.3 ล้านตู้ผ่านที่นี่" ทูตปานามาระบุ  

161970535466

ทุกวันนี้ ปานามา เป็นแหล่งกระจายสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก และท่าเรือเสรีที่ใหญ่สุดในทวีปอเมริกา เพราะเข้าร่วมเขตการค้าเสรีโคลอน (Colón) เช่นเดียวกับปานามาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ Panamá-Pací co เหมาะตั้งโรงงานผลิตสินค้าชั้นสูง และสินค้าเทคโนโลยี

ปานามากลายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ยอดนิยมของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มั่นคง รัฐบาลสนับสนุนการค้าเสรี อสังหาริมทรัพย์หลากหลาย และเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง