'ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน'ลดผลกระทบโควิดสหรัฐ

'ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน'ลดผลกระทบโควิดสหรัฐ

'ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน'ลดผลกระทบโควิดสหรัฐ ขณะที่ผู้นำสหรัฐ ประกาศว่า สหรัฐอเมริกากำลังก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนภัยอันตรายให้กลายเป็นความเป็นไปได้ และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ แถลงต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเป็นครั้งแรก ในโอกาสที่บริหารประเทศครบ 100 วันและถือเป็นการฉลองความก้าวหน้าในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งสหรัฐมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผู้นำสหรัฐ ประกาศว่า สหรัฐอเมริกากำลังก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนภัยอันตรายให้กลายเป็นความเป็นไปได้ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และเปลี่ยนการถดถอยให้เป็นพลังอันเข้มแข็ง

พร้อมกันนี้ ไบเดนเรียกร้องให้มีการเร่งการลงทุนภายใต้งบประมาณลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่สูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัว สนับสนุนด้านการศึกษา ไปจนถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส/อิปซอส บ่งชี้ว่า กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามพอใจกับการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่ง โดยสัดส่วนของผู้ที่แสดงความพึงพอใจครั้งนี้สูงกว่าที่ อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยได้รับมาตลอดช่วงเวลา 4 ปี

ผลสำรวจชิ้นนี้ ได้สอบถามความเห็นประชาชนจำนวน 4,423 คน ระหว่างวันที่ 12 ถึง 16 เม.ย.พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 55 % พอใจผลงานของปธน.ไบเดน ขณะที่ 40 %ไม่พอใจ และอีกประมาณ 5%ตอบว่า ไม่แน่ใจ

เมื่อลงในรายละเอียดของผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อผลงานของผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันในด้านการจัดการเศรษฐกิจ การสร้างงาน การรับมือกับโรคโควิด-19 ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการสร้างความสามัคคีในชาติ

ขณะที่ผลงานของประธานาธิบดีไบเดน ที่มีผู้แสดงความไม่พอใจมากที่สุด คือ เรื่องของนโยบายตรวจคนเข้าเมือง ในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังเผชิญปัญหาการหลั่งไหลเข้ามาอย่างหนักของผู้อพยพบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก

“จูเลียน เซลิเซอร์” นักประวัติศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ให้ความเห็นว่า สัดส่วนของประชาชนที่พึงพอใจกับผลงานของปธน.ไบเดน ในการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงสนับสนุนแผนงานใหญ่ต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งรวมถึง โครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ ปธน.ไบเดน เร่งผลักดันแผนพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และเตรียมที่จะเสนอปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับผู้มีฐานะเพื่อนำเงินไปจุนเจือโครงการช่วยดูแลเด็กและโครงการอื่นๆ สำหรับแรงงานอเมริกัน

ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ส ให้ความเห็นว่า รัฐบาลของปธน.ไบเดน ได้เปรียบพอสมควรที่มีเวลาเตรียมตัวนานนับเดือนในการวางแผนการรับมือวิกฤตโควิด-19 ก่อนขึ้นรับตำแหน่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังวัคซีนโควิดเริ่มมีออกมาใช้บ้างแล้ว ขณะที่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นการเทียบกับสถานการณ์ช่วงการเกิดการระบาดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว และมีผู้คนว่างงานหลายสิบล้านคน ทำให้สถิติในยุคของรัฐบาลชุดปัจจุบันดูดีได้ไม่ยาก

ในส่วนของประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวถึงค่านิยมอเมริกันและลำดับความสำคัญเรื่องนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับจีน

ที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดน ได้ประสานงานกับพันธมิตรในด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ(นาโต้) และในเดือนนี้ทั้งสหรัฐและนาโต้ก็เริ่มถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานร่วมกัน

การนำสหรัฐกลับเข้าสู่เวทีโลกอีกครั้งในยุครัฐบาลไบเดน เเสดงให้เห็นถึงความเเตกต่างจากแนวทางอเมริกาต้องมาก่อน ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันได้เลือก"ทิม สก็อต"วุฒิสมาชิกจากรัฐเซาท์แคโรไลนาให้มากล่าวสุนทรพจน์เพื่อประเมินการทำงานของรัฐบาลชุดนี้หลังประธานาธิบดีไบเดนพูดเสร็จ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับการแถลงต่อสภาคองเกรสของผู้นำสหรัฐครั้งนี้คือ มีการการปรับพิธีการการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และมาตราการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมมากขึ้น

มีผู้ฟังในสภาแค่ 200 คน จากเดิมที่มี 535 คน และมี"จอห์น โรเบิร์ตส์" ที่ดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลสูงสุดของสหรัฐเพียงท่านเดียวนั่งฟัง ส่วนที่นั่งพิเศษสำหรับสตรีหมายเลขหนึ่งและกับแขกพิเศษถูกยกเลิกไป และมีการถ่ายทอดสุนทรพจน์แบบออนไลน์ให้บุคคลสำคัญต่างๆและคณะรัฐมนตรีรับชมที่บ้านแทน