‘รัสเซีย’ พึ่ง ‘จีน’ ผลิตวัคซีนสปุตนิก ออเดอร์ล้น 630 ล้านโดส
"รัสเซีย" หันไปพึ่งบริษัทยาของจีน ผลิตวัคซีนโควิด-19 "สปุตนิก วี" หลังจากออเดอร์ 630 ล้านโดสเกินรับมือ ส่งขายหลายประเทศในละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัสเซีย กำลังหันไปพึ่งพาบริษัทเภสัชกรรมของจีน หลายแห่ง เพื่อเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 "สปุตนิก วี" ของรัสเซีย ให้รับกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น
โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า ความต้องการวัคซีนสปุตนิก วี เกินกำลังการผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนนี้ กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (อาร์ดีไอเอฟ) ได้ลงนามข้อตกลงกับผู้ผลิตยาหลายแห่งในจีน รวมถึงประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ บราซิล เซอร์เบีย ตุรกี อิตาลี และอื่น ๆ
รัสเซียได้ประกาศว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำข้อตกลงนี้กับบริษัทผลิตวัคซีนของจีน 3 แห่ง รวม 260 ล้านโดส ซึ่งเป็นการตัดสินใจเพื่อเร่งการผลิตวัคซีนสปุตนิก วี หวังให้เข้าถึงตลาดหลายประเทศในละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่สั่งซื้อวัคซีนจากรัสเซียเป็นหลัก
คำวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพวัคซีนของรัสเซียเริ่มเงียบหายไป หลังจากที่ The Lancet วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษา พบว่า วัคซีนสปุตนิก มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงถึง 91%
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งคำถามว่า รัสเซียสามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกได้หรือไม่ ในการส่งมอบวัคซีนหลายร้อยล้านโดส แต่ขณะนี้ทำได้เพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น
แอร์ฟินิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ในลอนดอนได้ประเมินว่า รัสเซียตกลงที่จะจัดหาวัคซีนสปุตนิก วี จำนวน 630 ล้านโดสไปยังกว่า 100 ประเทศ โดยตอนนี้มีจำนวนการส่งออกเพียง 11.5 ล้านโดสเท่านั้น
กองทุนการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย ซึ่งรับผิดชอบในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัสเซียจะร่วมมือกับบริษัท หัวหลาน ไบโอโลจิคอล แบคเทอรีน ผลิตวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นอกเหนือจากข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่ประกาศว่า รัสเซียได้ร่วมกับบริษัทเสินเจิ้น หยวนซิน เจนเนติก ผลิตวัคซีน 60 ล้านโดสในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว รัสเซียได้จัดจ้างบริษัททิเบต โรดิโอลา ฟาร์มาซูติคอล โฮลดิ้ง เป็นเงิน 9 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตและจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ในจีน จากนั้นในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัสเซียยังได้ตกลงกับบริษัทเดียวกันนี้ ผลิตวัคซีนโควิด จำนวน 100 ล้านโดส อีกด้วย