ครม. เคาะ 'สินเชื่อสู้ภัย โควิด-19' หมื่นล้าน ครอบคลุม ผู้มีรายได้ประจำ-อาชีพอิสระ-เกษตรกร
ครม. เปิดตัว 'มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID – 19' สำหรับผู้มีรายได้ประจำ-อาชีพอิสระ-เกษตรกร อนุมัติงบ 10,000 ล้านบาท
5 พ.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสินเชื่อสู้ภัย โควิด – 19 โดยอนุมัติวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ที่ได้ผลกระทบจาก โควิด – 19 โดยต้องผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป โดยต้องไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64
ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ประมาณ1 ล้านคน โดย ธ. ออมสินและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน แห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท เพื่อให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. รับทราบการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในส่วนของเงินต้น จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 ตามความสมัครใจ เพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงก่อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการเราชนะ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือน ม.ค. - ก.พ. 64) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 33.2 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 203,295 ล้านบาท และมาตรการ ม.33 เรารักกัน
รวมทั้งมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 64 เป็นต้น รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นต้น