ธปท.รุกเชื่อม ‘โอนเงิน’ ระหว่างตปท. หวังช่วยลดต้นทุนช่วยรายย่อย
ธปท.รุกเชื่อมต่อระบบโอนเงินระหว่างประเทศ หลังจับคู่สิงคโปร เปิดบริการโอนเงินเรียลไทม์ คู่แรก พร้อมเดินหน้าโอนเงินเชื่อมเพื่อนบ้านต่อไป พร้อมเชื่อมระบบคิวอาร์โค้ด มาเล-อินโดสเต็ปถัดไป
ต้องยอมรับว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 เป็นตัวเร่งชั้นดี ต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านดิจิทัลให้เติบโตก้าวกระโดด จากการลดใช้เงินสด
โดยหากดูการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านพร้อมเพย์ผ่าน บัตรประชาชน และหมายเลขบัตรประชาชนที่ผ่านมา พบว่า ยอดการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยมียอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ เดือนก.พ.2564 รวมอยู่ที่ 56.7 ล้านหมายเลข โดยแบ่งเป็น การลงทะเบียนผ่านหมายเลขประจำตัวประชาชนที่ 34.3 ล้านหมายเลข และ 21.4 ล้นาหมายเลข และอื่นๆอีกราว 1ล้านรายการ
หากดูปริมาณการทำธุรกรรมเฉลี่ยต่อวัน พบว่าอยู่ที่ 22.3 ล้านรายการ และมีปริมาณธุรกรรมสูงสุดต่อวันอยู่ที่ 27.1 ล้านรายการต่อวัน โดยมีมูลค่าการใช้งานเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80.4 พันล้านบาท โดยมีมูลค่าเฉลี่ยรอรายการ โดยรวมอยู่ที่ 3,600 บาทต่อรายการ
ไม่เฉพาะ “พร้อมเพย์”ในประเทศเท่านั้น ที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง แต่พัฒนาการพร้อมเพย์ ยังถูกต่อยอดไปใช้ในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน อีกทั้งพัฒนาการชำระเงินยังถูกพัฒนามากขึ้นต่อ ไปสู่ การให้บริการผ่าน “คิวอาร์โค้ด” ที่เป็นช่องทางการชำระเงินให้ร้านค้า ประชาชน สะดวกมากขึ้น ผ่านการสแกนบน “โมบายแบงกิ้ง” แทนการใช้เงินสด
. ซึ่งหนุนทำให้การทำธุรกรรมการเงินมีความรวดเร็ว ค่าธรรมเนียมต่ำลง ช่วยหนุนการท่องเที่ยว การค้าขายแดน และการใช้จ่ายบนอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
“สิริธิดา พนมวัน” ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า หลังจากการชำระเงินถูกพัฒนาต่อเนื่อง จากพร้อมเพย์ ไปสู่คิวอาร์โค้ดแล้ว การพัฒนาระบบชำระเงินก็ยังไม่หยุด
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการพัฒนาระบบชำระเงินร่วมกับหลายประเทศ โดยล่าสุด ที่เพิ่งเปิดให้บริการสดๆร้อนๆคือ การโอนเงิน ระหว่างประเทศ แบบเรียลไทม์ ที่ธปท.ร่วมกับธนาคารกลางสิงค์โปร พัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แรก เพื่อให้ได้รับเงินได้ในทันที
โดยมีธนาคารที่ให้บริการในระยะแรก 4 ธนาคารด้วยกันสำหรับธนาคารในไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารสิงค์โปร มีการให้บริการผ่าน 3 ธนาคารด้วยกัน คือ DBS ,OCBC,UOB
ระยะแรกการโอนเงินแบบเรียลไทม์ มีการกำหนดเพดานการโอนเงินไว้ โดยโอนจากไทยไปสิงคโปร์ โอนได้ ไม่เกิน 1พันดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อรายการต่อวัน ต่อธนาคาร ทั้งนี้ หากหากเป็นการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย จะอยู่ที่ 25,000 บาทต่อรายการ โยไม่จำกัดวงเงินต่อวัน
ทั้งนี้ สำหรับค่าธรรมเนียมในการให้บริการโอนเงิน ปกติจะอยู่ที่ 150 บาทต่อรายการ แต่ช่วงโปรโมชั่น จะอยู่ที่ 75 บาทต่อรายการ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31ก.ค. ปีนี้ ซึ่งถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำลงมาก หากเทียบกับ การโอนเงินในช่วงที่ผ่านมา ที่ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 300-1,000 บาท
“เราจะติดตาม และมอนิเตอร์ การทำธุรกรรม การโอนเงินระหว่างประเทศต่อเนื่อง หากพบว่าเพิ่มขึ้น ธนาคารอาจมีการพิจารณา ปรับค่าธรรมเนียมให้ต่ำลงอีก เช่นเดียวกันการพิจารณายกเพดานการโอนเงินให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไปด้วย
ซึ่งเราพบว่าค่าธรรมเนียมการโอนเงินดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าที่แข่งขันกันในตลาดค่อนข้างมาก และหากพบว่าประมาณการทำธุรกรรมเยอะขึ้น ก็จะมีการทบทวนเร็วขึ้นกว่าเดิม ภายในไตรมาส3ปีนี้ จากเดิมที่คาดจะทบทวนในสิ้นปีนี้”
ระยะข้างหน้า ธปท.จะมีการเดินหน้าเชื่อมโยงระบบชำระเงินต่อเนื่อง โดยเฉพาะคิวอาร์โค้ด ที่ระบบไม่ซับซ้อนมาก รวมถึงการโอนเงิน แบบเรียลไทม์เพิ่มเติมด้วย
ที่ผ่านมา ธปท.มีการหารือกับเพื่อนบ้านเช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่นแล้ว และระยะข้างหน้า คาดว่า จะเห็นการเชื่อมต่อระบบคิวอาร์โค้ด ไปสู่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นสเต็ปถัดไปด้วย ก่อนจะไปสู่การโอนเงินแบบเรียลไทม์ที่ต้องใช้เวลา และระบบมีความซับซ้อนมากกว่า
ทั้งนี้ จากการให้บริการการโอนเงินระหว่างประเทศ ระหว่าวไทย สิงคโปร เพียง 6 วัน ตั้งแต่ 29 เม.ย. ถึง 4 พ.ค. พบว่า ยอดการทำธุรกรรมรวมอยู่ที่ 3 พันรายการ โดยคิดเป็นยอดเงินอยู่ที่ 11 ล้านบาท หรือยอดใช้เฉลี่ยต่อรายการอยู่ที่ 3700 บาท