เห็นชอบฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
"คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ"เห็นชอบให้วัคซีน "ซิโนแวค"ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มอบ อย.ดำเนินการแก้ไข สธ.ร่วมเอกชนเร่งรัดฉีดวัคซีนแรงงานระบบประกันสังคม 16 ล้านคน เพิ่มจุดบริการฉีด 382 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 โดยมีนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมทางไกล
นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ "ฉีดวัคซีนโควิด 19" ไปแล้วกว่า 1.6 ล้านโดส ในเดือนพ.ค.นี้ มีวัคซีนของ "ซิโนแวค"เข้ามาจำนวนมากรวม 3.5 ล้านโดส และกระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดหาเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดส โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้บริการวัคซีน เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการให้วัคซีนโดยเร็วที่สุด มีเป้าหมายการให้วัคซีนแก่บุคคลที่อยู่ในประเทศไทยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวม 50 ล้านคน ภายในเดือนธันวาคม 2564
- เห็นชอบ3 ประเด็น เพิ่ม "ซิโนแวค" ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมี 3 ประเด็นสำคัญต่อการควบคุม
โรคโควิด 19 คือ 1.กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายภาคเอกชน ดูแลวัยทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนกว่า 16 ล้านคน
โดย "ภาคเอกชน"จะสนับสนุนการจัดบริการฉีดวัคซีน เช่น เพิ่มจุดให้บริการฉีดวัคซีนที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. 82 แห่ง และต่างจังหวัด 300 แห่ง โดยมีบุคลากรภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งเพิ่มจากระบบบริการที่เตรียมไว้แล้ว
2.เห็นชอบในหลักการแนวทางปฏิบัติการให้วัคซีน"ซิโนแวค"ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการวิจัยที่ประเทศจีนว่า การฉีดวัคซีน"ซิโนแวค"ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพดี พบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยมอบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการด้านกฎหมายต่อไปหากไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ
- ออกประกาศตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
3.การออกกฎหมายลูก (อนุบัญญัติ) ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คือ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่สวม "หน้ากาก"อนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถาน ซึ่งมีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและรับเชื้อ ซึ่งจะปรับเกณฑ์การปรับโดยมีการพิจารณาอนุโลม ยกเว้นหรือลดค่าปรับตามความเหมาะสม เพื่อมิให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชนจนเกินไปในยุคโควิดที่ลำบากอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังออกประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ตามตำแหน่งที่กำหนด และข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“นอกจากการให้วัคซีนแก่ประชาชนคนไทยและการใช้กฎหมายในการควบคุมโรคแล้ว เครื่องมือสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะ ยังเป็นมาตรการหลักในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด 19” นายอนุทินกล่าว