‘3 เลขาสภาพัฒน์’ ในศูนย์บัญชาการโควิด มือขวา - คู่คิด นายกฯฝ่าวิกฤติประเทศ
ห้วงยามที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤติถึงไม่ใช่ภาวะสงสงคราม แต่การต่อสู้กับโรคระบาดโควิด ไม่ต่างจากการ “สู้ศึก” ยิ่งระลอก3 การระบาดเกิดขึ้นจากใจกลางกรุงเทพฯ ก่อนจะลุกลามไปทั่วประเทศ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องรวดเร็ว นายกรัฐมนตรีต้องมีทีมงานที่เชื่อถือและไว้ใจได้
ขึ้นชื่อว่าเป็น “ภาวะวิกฤติ” กลไกตามปกติอย่างระบบราชการไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันท่วงที การสั่งการผ่านพรรคการเมืองต่างๆก็ดูเหมือนจะไม่เป็นเอกภาพ แม้แต่กลไกที่เคยใช้ได้ผลอย่างศูนย์บริการสถานการณ์ฉุกเฉินฯ "ศบค." ก็พบปัญหา “line of command” อำนาจที่กระจายไปยังกระทรวง กรม กองต่างๆจนกลืนไปกับระบบเดิมๆ
ไม่น่าแปลกใจที่ในทางบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มที่จะตีวงการบริหารสถานการณ์ให้แคบลง ตั้ง “ซิงเกิลคอมมานด์” รับฟังข้อมูล และข้อเสนอที่ผ่านการกลั่นกรอง สั่งการและตัดสินใจ โดยอาศัยข้อมูล ความคิดเห็นจาก "กุนซือ" ที่นายกฯเชื่อมือและไว้วางใจ
การประชุมในช่วงเช้าวันที่ 26 เม.ย.และวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ใช้สถานที่ ห้องสีเขียว บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
การหารือในเรื่องสำคัญทั้งการควบคุมการควบคุมโรระบาด การจัดหาและกระจายวัคซีน รวมทั้งการกำหนดมาตรการเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เป็นการประชุมวงเล็กที่มีเพียงแค่นายกรัฐมนตรี และไม่กี่คนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม เช่น คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าส่วนราชการไม่กี่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
ภายหลังการประชุมฯไม่นานประชาชนก็ได้เห็นแผนรับมือโควิด-19 ที่ชัดเจนขึ้นเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ ทั้งเรื่องของเป้าหมายการฉีดวัคซีนวันละ 3 แสนโดสต่อวัน เป้าหมาย 50 ล้านคนในปีนี้ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน
อีกไม่กี่วันต่อมาก็มีมาตรการเศรษฐกิจเยียวยาประชาชนครอบคลุม 51 ล้านคน ทั้งมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยเหลือเร่งด่วย และระยะต่อไปที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมีการระบาดลดน้อยลง
การจำกัดวงการทำนโยบาย การรวบอำนาจในการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินนายกฯรัฐมนตรีต้องมีทีมงานที่ไว้ใจได้ เพราะการตัดสินในแต่ละเรื่องต้องฉับไว ข้อมูลทุกอย่างต้องวางอยู่บนโต๊ะของผู้นำและไม่เพียงแต่แผนระยะสั้นจำเป็นต้องวางแผนระยะต่อไปประคองเศรษฐกิจจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
ในการบริหารสถานการณ์ โดยเฉพาะทางการด้านเศรษฐกิจช่วงวิกฤติครั้งนี้เราได้เห็นการรวมตัวกันทำงานของเลขาธิการสภาพัฒน์ 3 คน ทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน และอดีตเลขาธิการสภาพัฒน์อีก 2 คน ที่เข้ามาทำงานช่วยนายกรัฐมนตรี ทำให้เห็นบทบาทของสภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานคลังสมองเป็น Think Tank คลังสมองของรัฐบาลอีกครั้ง
คนแรกคือ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์คนปัจจุบัน ด้วยตำแหน่งเลขาฯสภาพัฒน์ที่เป็นเลขานุการในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหลายคณะทำให้นายกฯมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี รวมทั้งได้มอบหมายงานด้านต่างๆทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศให้ทำหลายเรื่อง เขายังมีบทบาทในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท
ดนุชายังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานผู้ดูแลงานภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯมาด้วยกัน ช่วยให้การทำงานระดับนโยบายเศรษฐกิจ หน่วยงานภาครัฐ และการเชื่อมต่อกับภาคเอกชนสามารถเดินไปควบคู่กันไปได้ในช่วงเวลานี้
“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง เป็นอดีตเลขาฯสภาพัฒน์อีกคน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอาคมได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีอย่างมาก ในสมัย คสช.เคยดำรงตำแหน่ง รมช. และรมว.คมนาคม และกลับมาเป็นรมว.คลังอีกครั้งในสมัยรัฐบาลปัจจุบันตามโควต้าของนายกรัฐมนตรี
...ในวิกฤติครั้งนี้เขามีบทบาทในการกำกับนโยบายการคลังซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“ทศพร ศิริสัมพันธ์” อดีตเลขาฯสภาพัฒน์ที่เพิ่งเกษียณไปเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ชื่อของทศพร เคยเป็นว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวง แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธไม่รับตำแหน่งใน ครม.แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯสูงมากเช่นกัน ถึงขนาดที่นายกฯทาบทามก่อนเกษียณอายุราชการว่า “เกษียณแล้วให้มาช่วยงานผม จะหางานให้ทำ”
บทบาทของทศพรในการช่วยนายกฯรับมือกับวิกฤติโควิดครั้งนี้คือดูแลในเรื่องของเศรษฐกิจรายสาขา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการจัดทำนโยบายของศูนย์บริหารเศรษฐกิจฯ (ศบศ.) มีหน้าที่ประชุมฯหารือกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง
และอีกส่วนที่กำลังทำงานอยู่คือในเรืองของการเตรียมความพร้อม จ.ภูเก็ตให้มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำงานร่วมกับรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ตามแนวทาง “ภูเก็ตแซนด์บ็อก” ฟื้นภาคท่องเที่ยวของรัฐบาล
แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาลวิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมว่าในภาวะวิกฤติการทำงานแบบสภาพัฒน์จะช่วยนายกรัฐมนตรีในภาวะวิกฤติได้มาก เนื่องจากสไตล์การทำงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” ทำงานหนัก มุ่งประสิทธิผล ประสานงานให้เกิดประโยชน์ และไม่เอาความดีความชอบไว้กับตัวเอง งานด้านต่างๆที่ต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจะสำเร็จลุล่วงไปได้
นอกจากนี้หากมองในภาพรวมการทำงานทางเศรษฐกิจมหภาค การประสานงานระหว่างเลขาสภาพัฒน์ปัจจุบัน กับอดีตเลขาสภาพัฒน์ที่ทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการประสานความร่วมมือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มี “ปรเมธี วิมลศิริ” อดีตเลขาฯสภาพัฒน์อีกท่านหนึ่งเป็นประธานบอร์ดอยู่ ซึ่งช่วยทำให้เกิดกลไกในการพูดคุย และทำงานร่วมกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจหลักๆของประเทศ ได้แก่สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ที่มีความจำเป็นต้องประสานความร่วมมือทั้งนโยบายทางด้านการคลัง และการเงินอย่างใกล้ชิดในขณะนี้
ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่นายกฯต้องกุมบังเหียนการบริหารสถานการณ์แบบบูรณาการงานทุกด้านเข้าด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี ประชาชน และภาคธุรกิจ พอจะตั้งความหวังได้บ้างก็คือนายกฯยังมี “ทีมเศรษฐกิจ” ที่ไว้ใจได้ซึ่งยังคงทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ซึ่งถือว่าเป็นมิติสำคัญต่อการบริหารงานท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ในระยะสั้นต้องเน้นในเรื่องของเยียวยาประชาชน และระยะต่อไปที่จะต้องวางแผนฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นขั้น เป็นตอน