'สนพ.'หวังมาตรการเยียวยาโควิด-วัคซีนหนุนการใช้พลังงานในประเทศ
สนพ. หวัง มาตรการรัฐอุ้มผลกระทบโควิด-19 แผนเร่งฉีดวัคซีนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนการใช้พลังงาน ชี้เดือนมี.ค.2564 มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่ ไตรมาสแรก การใช้ไฟฟ้าและน้ำมัน ยังหดตัว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การใช้พลังงาน ช่วงไตรมาสแรกของปี 2564(ม.ค.-มี.ค.) พบว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 44,759 ล้านหน่วย(GWh) ลดลง 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าลดลงทุกกลุ่มสาขา เช่น สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 47% ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสาขาธุรกิจ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% ลดลง 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 26% ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ เดือนมี.ค.2564 เป็นเพียงเดือนเดียวที่การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มแบบมีนัยสำคัญ โดยสาขาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 17.6% จากเดือนก่อนหน้า สาขาครัวเรือน เพิ่มขึ้น 26.2% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและสภาพอากาศที่ร้อน รวมถึง เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลงจากปัจจัยที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ
“สนพ. ยังคงต้องจับตาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตรการในการป้องกัน COVID-19 และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยระยะต่อไป”
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมี.ค.นี้ โครงการ “เราชนะ” และโครงการ “เรารักกัน” ที่มีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนและผู้ประกันตน
รวมถึงความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนที่เริ่มดำเนินการในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ทำให้ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงปรับตัวในระดับต่ำ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อการใช้น้ำมันของไทย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
โดยพบว่า การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 67.25 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมี.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศที่เริ่มคลี่คลายลง
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.08 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นแก๊สโซฮอล์95 (อี10) มีการใช้ของเดือนมี.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก อยู่ที่ 6,475 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 4.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกลดลงในทุกกลุ่มเชื้อเพลิง (ไม่รวมไฟฟ้า) ณ สิ้นเดือนมี.ค.นี้ มีรถจดทะเบียนสะสมที่อยู่ในระบบทั้งสิ้นประมาณ 41.7 ล้านคัน โดยมีรถจดทะเบียนใหม่สะสมของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 7.6 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1%
นอกจากนี้ มีการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 6,849 คัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 419 คัน ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 46% ส่วนราคาขายปลีกไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.64 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)