ธุรกิจร้านอาหารหมดแรง-เจ๊งถาวร! ส.ภัตตาคารไทยจี้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วน

ธุรกิจร้านอาหารหมดแรง-เจ๊งถาวร!  ส.ภัตตาคารไทยจี้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วน

ธุรกิจร้านอาหารหมดแรง-เจ๊งถาวรเซ่นพิษโควิด-19! นายกสมาคมภัตตาคารไทยโพสต์เฟซบุ๊ก "จดหมายจากคนหมดแรง" จี้รัฐช่วยเหลือ-เยียวยาเร่งด่วน

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก “ฐนิวรรณ กุลมงคล” มีรายละเอียดดังนี้

 

จดหมายจากคนหมดแรง

จากใจนายกสมาคมภัตตาคารไทย

 

จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ศบค. วอนช่วยเหลือร้านอาหารเร่งด่วน

 

เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี

                                   

จากข้อเรียกร้องที่ทางสมาคมภัตตาคารไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหารได้เรียนนำเสนอถึงสาเหตุความจำเป็น และความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารได้ได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อบังคับของ ศบค.โดยเฉพาะการนั่งรับประทานในร้านสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปแล้วนั้นว่าขณะนี้ มีผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการ และหลายรายต้องปิดกิจการไปแล้วตามที่ปรากฏให้ได้ทราบในสื่อต่างๆ เพราะยอดขายที่หายไปเนื่องจากรายได้หลักของร้านอาหาร 80% มาจากรายได้เปิดนั่งรับประทานในร้าน ซึ่งตลอดช่วงเวลาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ปรับตัว หาวิธีประคับประคองตัวเองมาตลอด พร้อมทั้งยังคงมีการจ้างงานไม่ปล่อยให้พนักงานตกงาน และธุรกิจร้านอาหารยังเป็นซัพพลายเชนเชื่อมโยงกับภาคการผลิต บริการต่างๆ

ธุรกิจร้านอาหาร คิดเป็น 18 %ของ GDP ประเทศในปี พ.ศ.2564 นี้มีหลายหน่วยงานคาดว่าจะเหลือแค่ 4 แสนล้านบาทแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ภาคธุรกิจร้านอาหารให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยดีมาตลอด เราแทบไม่ได้ออกมาเรียกร้องการเยียวใดๆ เลย ถึงแม้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้นกลุ่มธุรกิจร้านอาหารจะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้น้อยมากในทางปฏิบัติเพราะติดเงื่อนไขข้อบังคับต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มองผ่านและตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินช่วยเหลือตัวเองต่อไป เพราะสิ่งที่คนทำร้านอาหารให้ความสำคัญมากที่สุด คือการได้เปิดขายตามปกติ เพื่อให้เกิดรายได้กระแสเงินสดหมุนเวียนกลับมา

แต่สำหรับวิกฤติในรอบ 3 นี้ จะเห็นว่าได้ว่า ภาคธุรกิจร้านอาหารมีข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐมาเป็นระยะ ๆ เนื่องจากการบอบช้ำสะสมจากวิกฤตในการระบาดรอบที่ผ่านมายังไม่ได้รับการฟื้นฟูเมื่อต้องหยุดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน หรือ มีระยะเวลานั่งรับประทานในร้านได้จำกัดทำให้รายได้หายไปเมื่อรวมกับวิกฤตที่เจอมาในช่วงแรกจึงสะสมจนแบกไว้ไม่ไหว หลายร้านต้องปิดตัว เจ๊งถาวร และอีกหลายร้านต้องปิดชั่วคราว รวมถึงอีกหลายร้านกำลังจะเจ๊ง

จึงขอเรียนมายังท่านนายกฯในอีกครั้งว่า ข้อสั่งการมาตรการเยียวยาวต่าง ๆ ที่ท่านมีมายังผู้ประกอบการร้านอาหารแม้บางข้อจะได้รับการดำเนินการจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว เช่น เรื่องการจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างในระบบประกันสังคม 50% เป็นต้น แต่ก็ยังมีหลายข้อเรียกร้องที่ยังไม่รับการดำเนินการอย่างเหมาะสมทันเวลา

อาทิ เรื่องวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารใน 8 จังหวัดพื้นที่ระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการ และบุคลากรในร้านอาหารพื้นที่ กทม.ลงทะเบียนสมัครใจขอรับการฉีดวัคซีนในวันที่ 15-21 พฤษภาคม (รวมเกินกว่า 1 แสนคน) เพราะด้วยคาดหวังว่า วัคซีนจะเป็นทางออกของการยับยั้งการแพร่ระบาดและช่วยให้ระบบเศรษฐกิจประเทศกลับมาขับเคลื่อนได้เป็นปกติอีกครั้ง

ยิ่งในภาวะประชนชนยังไม่มั่นใจต่อการฉีดวัคซีนแต่คนภาคธุรกิจร้านอาหารกลับสมัครใจด้วยความยินดีในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม แต่กลับปรากฏว่าการจัดสรรวัคซีนของทาง กทม.ไม่มีส่วนสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่แสดงความสมัครใจลงทะเบียนขอฉีดวัคซีนกับทางสมาคมภัตตาคารไทยไว้แต่อย่างใด ซึ่งหากบุคคลากรภาคธุรกิจร้านอาหารสามารถได้รับการฉีดวัคซีนได้โดยเร็วจะเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจประเทศโดยตรง และยังมีส่วนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากร้านอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั่วไป

สำหรับข้อเสนอในส่วนของกรมอนามัยที่มีต่อร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อนำไปสู่การผ่อนปรนให้กลับมาเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ ซึ่งมีจำนวน 9 ข้อ ดังนี้นั้น

1.ต้องให้ร้านอาหารทุกร้านทำแบบประเมิน Thai Stop Covid

2.ปรับลดที่นั่งในร้านเหลือ 25%-50%( สำหรับ open air ร้านเล็ก)

3.เว้นระยะห่าง 2 เมตร

4.นั่งในร้านได้ไม่เกิน 2 ชม.

5.ห้ามกินอาหารร่วมกัน ห้ามกินอาหารในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ ต้องแยกอุปกรณ์ของใครของมัน

6.ระบบระบายอากาศในร้านต้องดี

7.คัดกรองพนักงาน ซักประวัติพนักงานทุกคน ทุกวันเพื่อเป็นฐานทะเบียนข้อมูลสำหรับเช็คไทม์ไลน์ความเสี่ยงของพนักงาน

8.พนักงานในร้านทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

9.เข้มงวดพนักงานหลังร้านให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

ขอเรียนให้ทราบว่า แม้บางข้อหากปฏิบัติตามก็เป็นอุปสรรคในการประกอบกรณีร้านขนาดเช่น ร้านเล็กพื้นที่จำกัดจะเป็นอุปสรรคอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็พร้อมปฏิบัติเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติโดยเร็ว และจะขอเรียนให้ท่านทราบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่ได้มีมาตรการป้องกันเข้มงวดด้านสาธารณสุขอย่างดีมากกว่า 9 ข้อนี้อยู่แล้ว 

จึงมั่นใจได้ว่า หากอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดนั่งรับประทานในร้านได้จะไม่เป็นสถานที่แพร่ระบาด หรือ คลัสเตอร์อย่างแน่นอน ยิ่งหากผู้ประกอบการและบุคคลากรของร้านได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วด้วยแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ดังนั้นจึงขอความเมตตามายังท่านให้พิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 14 วันของมาตรการข้อบังคับที่ใช้ล่าสุด เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจร้านอาหารได้ไปต่อ

จึงขอเรียนมาให้ท่านได้ทราบว่า ความห่วงใยที่ท่านนายกฯ มีต่อภาคธุรกิจร้านอาหารในบางเรื่องสำคัญยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเหมาะสมและโดยเร็ว ซึ่งหากปล่อยไว้ หรือรอแก้ไขปัญหาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วอาจไม่ทันการณ์และเมื่อถึงเวลานั้น อาจต้องใช้งบประมาณมากมายในการฟื้นฟู แต่หากช่วยให้ร้านอาหารได้ดำเนินกิจการเป็นปกติได้ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 14 วัน ธุรกิจนี้ก็จะค่อยๆ ฟื้นฟูได้ด้วยตัวเองต่อไป

 

ฐนิวรรณ กุลมงคล

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2464) ครบ 14 วัน ที่ ศบค.ออกมาตรการบังคับใช้ให้ร้านอาหาร ห้ามการนั่งกินอาหารในร้าน พี่น้อง 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่

ลุ้นระทึก ฝากความหวังไว้กับมาตรการของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคเอกชน