ร้านอาหารใจชื้น! ศบค.ไฟเขียวนั่งทานในร้าน ลุ้นความชัดเจนประกาศพื้นที่ผ่อนคลาย
“สมาคมภัตตาคารไทย” เผยบรรดาร้านอาหารพร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง “ศบค.” จ่อไฟเขียวผ่อนปรนให้นั่งทานในร้านได้ ลุ้นความชัดเจนประกาศพื้นที่ผ่อนคลายวันนี้ (15 พ.ค.) หลังธุรกิจร้านอาหารแทบจะอดตายเซ่นพิษโควิด-19
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาร่างผ่อนคลายมาตรการตามระดับพื้นที่ โดยปรับมาตรการในพื้นที่ “สีแดงเข้ม” (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) ปัจจุบันมี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ อนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25% ของที่นั่ง และเปิดให้นั่งได้ถึง 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. และห้ามจัดกิจกรรมหรือรวมคนเกิน 20 คน แต่ยังต้องงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้านทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ยังต้องรอผลสรุปของ ศบค.ก่อนว่าจะจัดให้จังหวัดใดอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งสัดส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
“ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยตอนนี้ พบว่ารายได้หายไปเหลือเพียง 20% ต้องยอมรับตรงๆ ว่าแทบจะอดตายกันอยู่แล้วนับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการควบคุมของรัฐบาลที่ห้ามไม่ให้นั่งทานอาหารที่ร้าน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ายอดขายเหลือวันละ 300 ล้านบาท จากปกติสร้างเม็ดเงินสะพัดขายได้วันละ 1,400 ล้านบาท”
เมื่อ ศบค.พิจารณาอนุญาตให้กลับมานั่งทานที่ร้านได้ตามแนวทางที่กำหนด ทางผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีทำตามทั้งหมด ขอเพียงให้กลับมาเปิดขายอาหารแบบนั่งทานที่ร้านได้ก็พอ เพราะเป็นเพียงทางออกเดียวที่จะสามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็ตาม และเชื่อว่าผู้ที่มานั่งทานที่ร้านจะเป็นผู้ที่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้านจริงๆ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มานั่งกินเพื่อพบปะสังสรรค์กันเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน เป็นห่วงคนตัวเล็กตัวน้อย อาทิ ร้านข้าวแกง ต้มเลือดหมู และร้านอาหารตามสั่งต่างๆ
นอกจากนี้ สมาคมฯได้ยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลขอรับวัคซีนต้านโควิด-19 ฉีดให้กับคนในอุตสาหกรรมร้านอาหารก่อน โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อแสดงความต้องการรับวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 100,000 คน จึงมองว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสในช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารยังไม่สามารถเปิดนั่งทานที่ร้านได้ตามปกติ เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนเหล่านี้ก่อน เพื่อทยอยลดจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าคนในร้านอาหารมีความเสี่ยงมาก ตั้งแต่เจ้าของร้าน พนักงาน คนส่งของ รวมถึงลูกค้าด้วย