‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.35บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าหลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง จับตาทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียให้ดี หากสถานการณ์โควิด-19กดดัน คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.30- 31.45บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30-31.45 บาทต่อดอลลาร์และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียให้ดี โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีกว่าคาด
ทั้งนี้ สกุลเงินเอเชียอาจผันผวนและไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก เพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19 อาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในเอเชียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ต้องจับตาแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก โดยแนวต้านสำคัญเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31.40 -31.50 บาทต่อดอลลาร์ เพราะผู้ส่งออกจำนวนมากต่างก็รอทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับดังกล่าว
นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) หลังจากที่ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่ตลาดกังวลปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯเร่งตัวขึ้น กดดันให้ตลาดเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และทำให้ตลาดกลับเข้ามาถือเงินดอลลาร์มากขึ้นเพื่อหลบความผันผวนในตลาดการเงิน ก่อนที่จะทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้างในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตลาดเริ่มคลายความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัว
สำหรับสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป ขณะเดียวกัน ตลาดจะติดตาม ปัญหาโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนักทั่วโลก โดยเฉพาะในโซนเอเชีย ที่หลายประเทศซึ่งเคยสามารถควบคุมได้ดี อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม ก็เริ่มเจอการระบาดใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีดังนี้
เริ่มจากในฝั่งภูมิภาคเอเชีย ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจจีนเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร(Fixed Asset Investment) นับตั้งแต่ต้นปีที่จะโตกว่า 20%y/y หนุนโดยการลงทุนในภาคอสังหาฯ ขณะเดียวกันยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) นับตั้งแต่ต้นปีก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 21%y/y ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) ก็ยังคงโตขึ้นกว่า 32%y/y นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปีจะกดดันให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า อนึ่ง เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่สดใส โดยยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 31%y/y
ส่วนในฝั่งไทย ตลาดมองว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะหดตัวกว่า 3.3%y/y จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่นับตั้งแต่ต้นปีที่กดดันทั้งการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังมีภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหนุนไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวหนัก ซึ่งยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 9.4%y/y ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออกจะโตกว่า 23% ทั้งนี้ ดุลการค้าจะเกินดุลกว่า 600 ล้านดอลลาร์
ทางด้านฝั่งสหรัฐฯ ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนตลาดแรงงาน ซึ่งตลาดคาดว่ายอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.6 แสนรายนอกจากนี้ภาคการผลิตและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ระดับ 60.2จุด และ 64.5 จุด (เกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว)
และในยุโรป ตลาดมองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -6.7 จุด จาก -8.1 จุดในเดือนก่อน นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.6 จุด และ 52.4 จุด ส่วนในฝั่งอังกฤษ การบริโภคฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังการเร่งแจกจ่ายวัคซีน โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายนจะขยายตัวกว่า 4.5% จากเดือนก่อนหน้า