สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลุยเก็บข้อมูลเตรียมเยียวยาแพ้วัคซีนโควิด
สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ประสาน สสจ.ลุยเก็บข้อมูลเชิงรุกผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโดยไม่ต้องรอให้ยื่นเรื่องเข้ามาเอง พร้อมเตรียมประชุมพิจารณาเงินเยียวยา 19 พ.ค.นี้
วันนี้ (18 พ.ค. 64) นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนไทยทุกคนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ก็มีนโยบายให้เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สปสช.เขต 1 จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ว่ามีใครที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงบ้าง โดยนับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มฉีดจนถึงวันที่ 13 พ.ค. 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาเบื้องต้น คาดว่าใน 1-2 วันนี้จะได้รับข้อมูลคำร้องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ สปสช.เขต 1 ทั้งหมด
นพ.เติมชัย กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลผลได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงรุกโดยไม่รอให้ตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบยื่นคำขอเข้ามาเอง แต่ สปสช.เขต 1 ใช้วิธีประสานไปยัง ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิ ของ สสจ. แต่ละจังหวัด จากนั้น สสจ.จะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยบริการในสังกัดว่าบุคลากรที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมีอาการข้างเคียงอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็เป็นข้อมูลที่ละเอียดระดับรายบุคคลว่าเป็นใคร ฉีดวันไหน ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร แพทย์วินิจฉัยการรักษาอย่างไร เป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน เป็นต้น
"เบื้องต้นมีผู้ได้รับผลข้างเคียง 218 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่ มีอาการเล็กน้อย อาการปานกลาง และกลุ่มที่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือส่งต่อไปรักษาใน รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า ข้อมูลเหล่านี้สามารถยื่นขอรับการเยียวยาเบื้องต้นเข้ามาได้เลย อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่อย่างไรจะยึดตามหลักฐานใบรับรองแพทย์และเวชระเบียน โดยคณะกรรมการพิจารณาเงินเยียวยาของเขตจะเริ่มประชุมในวันที่ 19 พ.ค.นี้" นพ.เติมชัย กล่าว
นพ.เติมชัย กล่าวอีกว่า จำนวนผู้ได้รับผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน 218 คนนี้ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 91,551 เข็ม คิดเป็นเพียง 0.24% กว่าครึ่งมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว และถ้านับเฉพาะคนที่มี ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ก็จะอยู่ที่ 0.05% เท่านั้น เช่น มีไข้สูง ใจสั่น เวียนศีรษะ หรือ มีอาการชาเท่านั้น ซึ่ง กลุ่มดังกล่าว นี้ก็ไม่ได้มีอาการรุนแรงน่ากลัวจนถึงขั้นเสียชีวิตแต่อย่างใด
จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าวัคซีนมีความปลอดภัย เพียงแต่ สปสช. จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเฉพาะส่วนของบุคลากรสาธารณสุขที่ฉีดไปก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเริ่มฉีดเป็นการทั่วไปแก่ประชาชนก็ต้องขอความร่วมมือว่าถ้ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้นขอให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่ฉีด สสจ. หรือสำนักงานเขต สปสช. โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เงินจ่ายเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามมติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 แบ่งเป็น ตาย/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สปสช. จะแต่งตั้งกลไกเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะอนุกรรมการอนุมัติ