ครม.คลอดแนวทางลงทุนนอกงบฯ 3.6 แสนล้าน แก้ปมงบลงทุนปี 65 ต่ำกว่างบฯขาดดุล
ครม.คลอด 3 มาตรการ แก้ปัญหาปี 65 ตั้งงบลงทุนต่ำกว่าขาดดุลงบประมาณ แจงใช้แหล่งเงินอื่นลงทุนกว่า 3.6 แสนล้าน คาดลงทุนปีนี้ได้จริงประมาณ 1.5 แสนล้าน ในรูปแบบพีพีพี ไทย แลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ลงทุนจริงเกิน 7 แสนล้าน สำนักงบฯหวังเศรษฐกิจโตลดขาดุลฯปีหน้าลง
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณประจำปี เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณที่ 7 แสนล้านบาท ขณะที่งบลงทุนนั้นรัฐบาลตั้งวงเงินไว้ที่ประมาณ 6.2 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของวงเงินงบประมาณรวม อย่างไรก็ตามในส่วนของการขาดดุลงบประมาณยังสูงกว่างบลงทุนฯอยู่ ซึี่งในส่วนนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมจากแหล่งเงินอื่นๆที่อยู่นอกงบประมาณซึ่งเมื่อรวมกันแล้วการลงทุนรวมต้องมากกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท
“ในปี 64 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การจัดเก็บรายได้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องขาดดุลงบประมาณมากถึง 7 แสนล้านบาท ซึ่งในการอภิปรายในสภาหากฝ่ายค้านตั้งเรื่องนี้เป็นประเด็นว่างบลงทุนเราต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณรัฐบาลก็สามารถที่จะชี้แจงได้ว่าเมื่อรวมกับแหล่งเงินอื่นๆการลงทุนรวมในปีนี้จะมากกว่าการขาดดุลงบประมาณ ส่วนในการจัดทำงบปรมะาณปีต่อไปคาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะลดลง การตั้งงบลงทุนจะสูงขึ้นได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 65 ที่ทำให้การจัดเก็บรายได้จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว
สำหรับการลงทุนในส่วนอื่นๆที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณมีวงเงินรวมประมาณ 3.6 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเป็นการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้ในปี 2565 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีโครงการในกลุ่มต่างๆประกอบด้วย 1.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 จำนวน 10 โครงการ ประมาณการลงทุนมีมูลค่ารวมประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ประมาณการวงเงินลงทุน ที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 5.23 หมื่นล้านบาท
2.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) โดยในปีงบประมาณ 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ประเทศไทย จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 9.98 หมื่นล้านบาท
และ 3.การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 9.1 พันล้านบาทเศษ
นอกจากนี้ ครม.ยังได้มีมติเห็นชอบให้รายจ่ายลงทุนภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวน น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี
รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุน และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่าย จากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้ สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 22 และ มาตรา 23 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช.ในฐานะโฆษก สศช.เปิดเผยว่า กรณีที่มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องที่รัฐบาลไม่มีวงเงินเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน เนื่องจากมีการใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท (พ.ร.ก. เงินกู้โควิด-19) ไปเต็มจำนวนแล้วนั้น ขอให้ให้มั่นใจได้ว่า ในปี 2564 และ 2565 รัฐบาลยังคงมีวงเงินเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมกว่า 3.9 แสนล้านบาท
ปัจจุบันการดำเนินการของแผนงานและ โครงการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้โควิด-19 มีการอนุมัติวงเงินแล้วทั้งสิ้น 833,475 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินคงเหลืออีก 166,525 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณจากงบกลาง ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 98,213 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 37,108 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้มีการตั้งวงเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินและจำเป็น จำนวน 89,000 ล้านบาท สามารถนำมาใช้เพื่อการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ และ มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทเฉพาะกิจ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy)
การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจของ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำมาดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูและให้การช่วยเหลือเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด–19 ได้เช่นกัน