แผนอีวีไทยมาถูกทาง ห่วงขาดจุดแข็งเทคนิค-กฎหมาย
รัฐ-เอกชน หนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รักษาจุดแข็งฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลก พร้อมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจ แนะเร่งผุดเทคโนโลยีเป็นเจ้าของแบตเตอรี่
ประเทศไทยไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน ไปกว่า 161 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 6.4%ของGDP เป็นอุตสาหกรรมอันดับ 3 ที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ในขณะที่ปัญหาโลกร้อนและมลพิษต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างกำหนดเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และแผนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ก็เป็นหนึ่งในแผนที่แต่ละประเทศกำลังเร่งดำเนินการ
พะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายพิเศษ “นโยบายสนับสนุนของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในงานสัมมนาออนไลน์ “ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ปี 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ว่า เป้าหมายส่งเสริมการใช้รถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV)ในหลายประเทศกำลังเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภาครัฐจึงเร่งกำหนดเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการไทยปรับเปลี่ยนไปสู่รถอีวี
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จึงได้กำหนดแนวทางส่งเสริมฯออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ปี 2564 – 2565) ระยะที่ 2 ปี 2566 - 2568 และ ระยะที่ 3 ปี 2569 – 2573 นอกจากนี้ คณะอนุกรรม4 คณะในบอร์ด อีวี อยู่ระหว่างจัดเตรียมรายละเอียดมาตรการต่างๆ คาดว่าจะตกผลึกและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบได้ในไม่ช้า
“ทุกประเทศกำหนด ZEV ถ้าไทยไม่เตรียมความพร้อมตรงนี้ เราจะเป็นประเทศล้าหลัง คือ เราจะสูญเสียมูลค่าการส่งออก ซึ่งเราผลิตรถยนต์ 2 ล้านคันต่อปี มูลค่า 2 ล้านล้านบาท มีโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย 19 แห่ง มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯ 22,000 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ กว่า 8 แสนคน ก็จะกระทบ”
อดิศักดิ์ พรหมบุญ ผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “โอกาสของผู้ประกอบการยานยนต์ไทยกับตลาดทุน” ว่า ปัจจุบัน กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในตลาดหลักทรัพย์ไทย พบว่า SET มีหลักทรัพย์รวม 622 หลักทรัพย์ มีมูลค่า 18,000,000 ล้านบาท เป็น SETAUTO อยู่ที่ 18 หลักทรัพย์ มูลค่า 75,000 ล้านบาท ยังเป็นระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างGDP จึงนับเป็นโอกาสช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่บริษัทต่างๆจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นหรือการออกหุ้นกู้ เพื่อหาแหล่งเงินทุนระยะยาว สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีด้วย
กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100 % ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยตื่นตัวกับกระแสรถอีวีมากขึ้น โดยจากสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าและคาดว่าทั้งปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนับเป็นการเติบโตที่สอดรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก ซึ่ง บอร์ด อีวี ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมฯมาถูกทางแล้ว
“สมาคมฯ กำลังดูเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับทุกหน่วยงาน เช่น การสร้างเน็ตเวิร์คให้หัวชาร์จไฟฟ้าแต่ละยีห้อสื่อสารหรือใช้งานข้ามโครงข่ายระหว่างกันกันได้ เพื่อให้ผู้ใช้รถอีวีมั่นใจ และเตรียมพร้อมบุคลากรให้รองรับกับอุตสาหกรรมนี้”
ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)กล่าวว่า ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก
ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย KMUTT MOVE: Mobility & Vehicle Technology Research Center ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า 31% คิดว่าช้าเกินไป
“ส่วนตัวคิดว่า หากมีมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อ เเละผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้”
วรากร กติกาวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด และกรรมการบริหารสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่รถ ZEV ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา โดยอุตสาหกรรม ICE จะมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องประมาณ 30,000 ชิ้น และZEV จะลดลงเหลือประมาณ 3,000 ชิ้น ซึ่งจะมีชิ้นส่วนบางประเภทที่จะต้องปรับตัว แต่เชื่อว่าไม่ใช่ปัญหาซัพพลายเชนสามารถปรับตัวได้ โดยสมาคมฯจะเน้นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีใหม่ เข้ามาเสริมองค์ความรู้ และจัดทำเรื่องของการจับคู่ธุรกิจ(Business Matching) เป็นต้น
“ปัจจุบัน การจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้ายังยากลำบาก เช่น รถกระบะ จะมีข้อห้ามเรื่องนำหนักของรถ รถบัส จะมีขนาดเบาะที่ต่างประเทศกำหนดไม่เท่ากัน ก็เป็นเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่ผู้ผลิตจะต้องศึกษาให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยด้วย”
พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทยและหัวหน้าทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดเจ้าของเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า แบตเตอรี่มีส่วนร่วม ถึง 40-60%ของมูลค่าตลาดฯ ที่ประมาณการอยู่ที่ 90 ล้านล้านบาท หากไทยสามารถจับจ้องได้เร็วก็จะเป็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมได้