'ประกันชีวิต' หรือ 'ประกันสุขภาพ' ดียังไง? ส่องพฤติกรรมคนไทย 'ลงทุน' กับ 'สุขภาพ' มากแค่ไหน?
ส่องพฤติกรรมคนไทย กับการจ่ายเงินเพื่อ "สุขภาพ" และการ "ลงทุนในสุขภาพ" ของตัวเอง รวมถึง "ประกันชีวิต" และ "ประกันชีวิต" ที่สะท้อนการวางแผนการเงินที่ดี พร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพแบบคาดไม่ถึง
การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ย้ำเตือนให้หลายคนมองเห็นว่าสุขภาพว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องวางแผน ทว่า ที่ผ่านพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม "การใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ" "การทำประกันสุขภาพ" และ "การทำประกันชีวิต" ของคนไทยมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ และเทียบกับสัดส่วนของประเทศอื่นๆ
- ประเทศที่มีการทำประกันสุขภาพมากที่สุด 5 อันดับแรก
อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา ทำประกันมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1,280,443 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
อันดับที่ 2 ญี่ปุ่น 479,762 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
อันดับที่ 3 สหราชอาณาจักร 351,266 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
อันดับที่ 4 จีน 328,439 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
และอันดับที่ 5 ฝรั่งเศส 270,520 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 31 โดยทำประกันรวมอยู่ที่ 21,696 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
แต่หลังจากที่มีการระบาดของ "โควิด-19" สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย. 64 พบว่า "ยอดขายประกันโควิด" ในระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 13.8 ล้านกรมธรรม์
คิดเป็นเบี้ยประกันรับรวม 5,925 ล้านบาท โดยยอดเคลมประกันรวม 195 ล้านบาท แต่เฉพาะเดือน เม.ย. 64 ซึ่งมีการระบาดระลอก 3 อย่างรุนแรง ทำให้มียอดขายประกันโควิดสูงถึง 3.15 ล้านฉบับ โดยยอดเคลมประกันอยู่ที่ 24.6 ล้านบาท
สะท้อนว่า คนส่วนใหญ่เริ่มมองหาประกันเพื่อรับความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น และอีกนัยหนึ่งการทำประกันโควิด-19 ยังสะท้อนว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพเบื้องต้นที่ครอบคลุมอยู่ก่อนหน้านี้
- ทำไมคนไทยไม่ค่อยทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ?
1. มิติของใช้จ่าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำประกัน หรือลงทุนในสุขภาพ มีเรื่องของ "เงิน" เข้ามาเกี่ยวข้อง จากตัวเลขการสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) พบว่า
ครัวเรือนไทยมีรายจ่ายประกันชีวิต 8.9% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนการทำประกันชีวิตมากกว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และแน่นอนว่าจำนวนเบี้ยประกันต่อปีของกลุ่มที่มีรายได้สูงก็มากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเช่นกัน
ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่ารายได้ มีส่วนสำคัญในการวางแผนการทางเงินในมิติเรื่องสุขภาพ ที่บางคนอาจไม่เห็นผลกระทบในระยะสั้น จึงยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น
2. ทัศนคติต่อการทำประกันและการดูแลสุขภาพ
คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพราะมองเห็นว่า "ไม่สำคัญ" ซึ่งอาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี อายุยังน้อย หรือมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ฯลฯ ซึ่งอาจมองข้ามหลายประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องสุขภาพและการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้แก่
- โรคไม่เลือกวัย
อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โรคเรื้องรัง โรคร้าย หรือแม้แต่โรคระบาดอย่าง "โควิด-19" ก็สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนเช่นเดียวกัน และไม่มีหลักประกันใดที่ระบุว่าคนที่มีอายุน้อยกว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอายุมากเสมอไป
- ปัญหาสุขภาพกันดีกว่าแก้
ป่วยก็รักษา แต่อาการป่วยบางประเภทรักษาได้ยาก หรือมีสภาวะฉับพลันที่การตามรักษาหลังป่วยอาจช้าเกินไป
- อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี
สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือค่ารักษาพยาบาลในไทย มีการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และมีอัตราเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในระยะยาวที่ 3% เสียอีก
- ผลกระทบการทำงาน และการเงินเมื่อเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต
สิ่งที่น่ากังวลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาสุขภาพคือปัญหาทางการเงินที่ส่งผลกระทบโดยตรงเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น "ค่ารักษาพยาบาล" ที่จะต้องจ่าย และการ "ขาดรายได้" เมื่อเจ็บป่วย
- มีประกันสุขภาพ และประกันชีวิตไปทำไม ?
จุดประสงค์หลักของการทำ "ประกันสุขภาพ" และ "ประกันชีวิต" คือการทำหน้าที่เป็นเบาะนุ่มๆ รองรับแรงกระแทกเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุ โรคร้าย โรคเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินในการรักษา และส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
พูดง่ายๆ ก็คือ การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต คือส่วนหนึ่งของการ "วางแผนทางการเงิน" หรือ "การลงทุนในสุขภาพ" ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัวแล้วจะช่วยให้คนที่วางแผนได้ดี จะลดความเสี่ยงการเงินพังแม้ในวันที่สุขภาพพัง
ที่มา: คปภ. scb mtl-insure กรุงเทพธุรกิจ