ต่างชาติแห่ลงทุน“นิคมอุดรฯ” ปั้นฐานผลิตบุกจีนตอนใต้
การค้าและการลงทุนที่กระจายตัวอยู่ในภาคต่างๆของประเทศไทยกำลังแสดงบทบาทที่จะขยับขีดความสามารถทางการค้าจากระดับภูมิภาคไปสู่ระดับการค้าระหว่างประเทศ เพราะจุดเด่นของภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง อย่าง “จีน”
พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ว่า นิคมฯแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 2,170 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเฟสแรก ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสีย งานระบบประปา ของถนนสายต่างๆในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 5.67 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 75% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.2564
ส่วนการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะมีพื้นที่สำหรับดำเนินการทางศุลกากร เพื่อที่จะนำสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกได้ทันที ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) สร้างอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร
“ในขณะนี้แม้ว่านักลงทุนยังไม่สามารถเข้าประเทศได้จากปัญหาโควิด-19 แต่ก็ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ที่อยู่ขั้นตอนการออกแบบโรงงานอยู่ 3 ราย เพื่อกำหนดแผนการใช้พื้นที่ ใกล้จะลงนามซื้อที่ดินได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยจะเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และอาหารแปรรูป และยังมีนักลงทุนจากจีน และญี่ปุ่นอีกหลายรายให้ความสนใจเข้ามาลงทุน”
โดยจุดเด่นของนิคมฯ ที่ทำให้นักลงทุนจีนและต่างขาติสนใจมาก เพราะอยู่ใกล้กับปลายทางของรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่จากจีนที่สิ้นสุดกรุงเวียงจันทน์ ประเทศสปป.ลาว อยู่ห่างจากนิคมฯ เพียง 60 กม. ซึ่งจะเปิดใช้ในช่วงเดือนธ.ค.นี้ ทำให้ขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ได้ง่ายใช้เวลาเพียง 1 วัน และลดค่าขนส่งได้มากกว่า 5 เท่าตัว จากเดิมที่ต้องขนส่งไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีได้มากจากเดิมใช้เวลา 15-17 วันไม่รวมการขนส่งจาก จ.อุดรธานีไปแหลมฉบัง เพราะต้องเล่นเรือจากอ่าวไทยอ้อมเวียดนามไปยังทะเลจีนใต้เข้าสู่ท่าเรือที่ฮ่องกง หรือเมืองเซินเจิ้น ทางชายฝั่งตะวันออกของจีน จากนั้นก็ต้องใช้เส้นทางบนบกไปสู่มณฑลยูนนานที่มีระยะทางกว่า 1,700 กม.
“หากใช้รถไฟทางคู่ขนส่งสินค้าจากเวียนจันทน์ไปยังมณฑลยูนนานจะมีระยะทางเพียง 850 กม. และยังกระจายไปยังมณฑลตอนใต้ได้อีกมาก ทำให้สามารถขยายตลาดสินค้าไทยได้อีกมหาศาล รวมทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนมายังอุดรธานี และภาคอีสานก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย"
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นิคมฯแห่งนี้เป็นฐานการผลิต และการค้าที่สำคัญของไทย เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้ในอนาคต และในอนาคตหากมีการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเวียงจันทน์เข้ามายัง จ.หนองคาย ผ่านมายังจ.อุดรธานี ก็จะยิ่งเพิ่มความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น เพราะในพื้นที่ใกล้เคียงนิคมฯก็มีเส้นทางรถไฟอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กันพื้นที่สำหรับนักลงทุนจีน และต่างชาติไว้ประมาณ 70% อีก 30% สำหรับนักลงทุนไทย แต่บริษัทฯ อยากให้นิคมฯ แห่งนี้เป็นฐานการผลิตของคนไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหาร เพื่อเจาะตลาดจีน ไม่อยากให้จีนเข้ามายึดครองทั้งหมด คนในภาคอีสาน ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกป้อนให้กับโรงงานจีน เหมือนกับในสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น ทุเรียน ลำไย ที่จีนได้เข้ามาครองตลาดหมดแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยสามารถลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยได้สร้างโรงงานสำเร็จรูปขึ้นมา 20-30 โรง บนพื้นที่ 100 ไร่ ให้กับเอสเอ็มอีเข้ามาเช่าเพื่อดำเนินการผลิตในช่วงแรก เพราะจากการสำรวจพบว่าปัญหาสำคัญที่เอสเอ็มอีไม่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงมากบางอุตสาหกรรมใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าที่ดินและก่อสร้างโรงงานกว่า 15 ล้านบาท แต่เป็นค่าเครื่องจักร และอื่น ๆ เพียง 5 ล้านบาท ดังนั้นหากเอสเอ็มอีไม่ต้องเสียเงินซื้อที่ดินสร้างโรงงาน ก็จะเริ่มธุรกิจได้ง่ายขึ้น เมื่อผลิตสินค้าส่งออกไประยะหนึ่งมีเงินทุนเพียงพอแล้ว ก็ค่อยขยายไปซื้อที่ดินและตั้งโรงงานต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสขยายไปสู่ขนาดใหญ่ เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากให้รัฐบาลให้การส่งเสริม ก็คือการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้มากกว่านี้ อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าในพื้นที่อีอีซี