เช็คลิสต์ เรื่องต้องรู้ ก่อน-หลัง ‘ฉีดวัคซีนโควิด’ มีอะไรบ้าง?
เรื่องควรรู้ "ฉีดวัคซีนโควิด" ข้อห้ามก่อนฉีด คำแนะนำขณะฉีด และสิ่งที่ต้องปฏิบัติหลังฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเข้ารับการฉีดวัคซีน
คืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่บางคนอาจได้ "ฉีดวัคซีนโควิด" กันแล้ว อีกหลายคนใกล้ได้คิวจะไปฉีด รวมถึงอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างรอรับสิทธิ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 จากรัฐบาล ล่าสุด.. มีข้อมูลว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 23 พ.ค. 2564) รวม 2,910,664 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 1,941,565 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 969,099 ราย
ระหว่างนี้ เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่อาจจะยังมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิดที่ได้รับการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ นำมาให้คนไทยได้ทราบกัน
- ก่อนไป "ฉีดวัคซีน" ต้องรู้อะไรบ้าง?
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย แนะนำข้อปฏิบัติก่อนไปฉีดวัคซีนดังนี้
ขั้นตอนการตรวจสอบร่างกาย
-ไม่อดนอน หลับให้เพียงพอ
-เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชา-กาแฟ
-ต้องไม่มีอาการไข้ หรืออาการเจ็บป่วย
-สองวันก่อนและหลังฉีด งดออกกําลังกายอย่างหนัก
แจ้งแพทย์ก่อนฉีด
-โรคประจําตัว
-ประวัติการแพ้ยา หรือวัคซีน
-การตั้งครรภ์
โดยอย่าลืมหลักฐานสำคัญอย่าง "บัตรประชาชน" เพื่อการนำไปเป็นหลักฐานยืนยันตัวตน ณ สถานที่บริการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก "Yong Poovorawan" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิดไว้ว่า
ใครทานกาแฟอยู่เป็นประจำทุกวัน ก็ทานไป ถ้าใครทานนานๆ ครั้ง ก็ไม่ควรทานกาแฟวันที่ฉีดวัคซีน หรือใครไม่ทานก็ไม่ควรทานวันฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว และบีบเส้นเลือด ความดันจะขึ้นสูง คนที่ทานประจำร่างกายปรับตัวได้อยู่แล้ว ถ้าหยุดทานกาแฟ จะรู้สึกหงุดหงิด และปวดหัวเอาได้ง่ายๆ ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า ผู้ที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันต้องหยุดกาแฟ
ผู้ที่ทานยาบีบเส้นเลือด เช่น ยารักษาปวดหัวไมเกรน ถ้าหยุดได้ก็ควรจะต้องหยุด ถ้าปวดหัววันนั้นและหยุดไม่ได้ ก็เลื่อนวันฉีดออกไป
วันฉีดวัคซีนไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ รับประทานอาหารให้เต็มที่แบบปกติ แต่ก็ไม่ต้องถึงกับกินน้ำหลายๆ ลิตรอย่างที่มีการพูดกัน ให้มั่นใจว่าร่างกายเราไม่ได้ขาดน้ำ ถ้าอย่างที่ส่งต่อกันให้กินวันละ 5 - 6 ลิตร ไม่แน่ใจว่าสถานที่ฉีด จะมีห้องน้ำให้เข้าเพียงพอหรือเปล่า
ดูก็แล้วกันว่าถ้าสถานที่ไม่มีที่ปรับอากาศอากาศร้อนก็ทานน้ำให้มาก ถ้าอยู่ในห้องแอร์ที่เย็น ก็อย่าให้ขาดน้ำก็แล้วกันคงไม่ต้องถึงกับกินมากอย่างที่บอกในสื่อต่างๆ
"การเตรียมตัวฉีดวัคซีน" ก็เหมือนอย่างที่เราไป "ฉีดวัคซีน" ป้องกันไข้หวัดใหญ่กันทุกปี คือ พักผ่อนให้พอ ผ่อนคลาย เพราะสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ หลายคนเดินเข้ามาก็เกิดความกลัว วัดความดันก็พุ่งสูงกันหมด และหลังฉีดก็มีการเป็นลมได้ เหมือนกับที่เราพบบ่อยกับการเจาะเลือดแล้วหลายคนเป็นลม การเป็นลมดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการแพ้ยาฉีดแต่อย่างใด ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เราเห็นกันบ่อยๆ ไม่มีอันตรายอย่างใดเลย
- เช็คให้ชัวร์ อย่าให้ข่าวปลอมทำสับสน
ในช่วงเริ่มแรกของการเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดแก่คนไทย มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการฉีด ที่เป็นทั้งข่าวจริงและข่าวลวง เช่น
- ทาน Fish Oil ช่วยป้องกันเลือดแข็งตัว
- ทานแมกนีเซียม คีเลต อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ อโวคาโด ผักโขม ดาร์คช็อคโกแลต ข้าวโอ๊ต
นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ แพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงผ่านรายการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ดังนี้
ถาม : ก่อนฉีดวัคซีนให้กิน vitamin C 1000 mg เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน?
ตอบ : วิตามินซีเป็นวิตามินที่มีลักษณะเป็น Antioxidant เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดหากจะทานวิตามินซีก่อนฉีดวัคซีน แต่การทานวิตามินซี ไม่ได้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ถาม : ควรกินยาพาราเซตามอล ก่อนฉีดวัคซีน?
ตอบ : ไม่แนะนำให้ทานยาพาราเซตามอลก่อนเข้ารับวัคซีน เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวดภายหลังจากการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น
การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เจ็บปวดอะไร แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคการให้บริการของเจ้าหน้าที่ เช่น การฉีดวัคซีนในขณะที่ปลายเข็มแหงนขึ้นใกล้หัวไหล่ หรือข้อหัวไหล่ ก็จะยิ่งปวด รวมถึงการฉีดวัคซีนในขณะที่มีอุณหภูมิที่เย็นจัดจนเกินไปก็จะทำให้เกิดการเจ็บปวดได้
ถาม : ควรทาน Fish Oil โดยเฉพาะ Fish Oil ที่ EPA มากๆ จะช่วยป้องกันเลือดแข็งตัวก่อนฉีดวัคซีน?
ตอบ : ไม่จำเป็นต้องทาน Fish Oil ก่อนเข้ารับวัคซีน ทั้งนี้หากกังวลในเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน Fish Oil ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน เพราะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 7-10 วัน แต่หากทาน Fish Oil เป็นปกติอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร การทานยาหรือกินอาหารเสริมก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
ถาม : ควรทานแมกนีเซียม คีเลต, อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ อโวคาโด ผักโขม ดาร์คช็อคโกแลต ข้าวโอ๊ต ก่อนฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง และควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลได้?
ตอบ : อาหารพวกนี้เป็นอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง ซึ่งจะช่วยในเรื่องภาวะการเป็นตะคริวสำหรับคนที่ขาดเกลือแร่ แต่หากผู้ฉีดวัคซีนมีความกังวลก่อนฉีดวัคซีน ก็อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็งได้
ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากภาวะการวิตกกังวล ไม่ได้เกิดจากภาวะพร่องแคลเซียมหรือแมกนีเซียม อย่างไรก็ตาม หากจะทานอาหารดังกล่าวเพราะเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดอาการชัก อาการเกร็งนั้น ก็คงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะพวกนี้เป็นอาหารที่ไปเสริมคนที่พร่องแคลเซียมหรือแมกนีเซียม ซึ่งเป็นอาหารที่บำรุงร่างกายทั่วไป
- ข้อแนะนำในการ "ฉีดวัคซีน"
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำดังนี้
- สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
- หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
- การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือนและ
- ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
- ข้อปฏิบัติหลัง "ฉีดวัคซีน"
ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติหลังฉีดวัคซีน ดังนี้
- แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ควรสังเกตอาการข้างเคียงที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้านอย่างน้อย 15 นาที
- เมื่อกลับบ้านแล้ว อาจพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีมลพิษ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนครึ่งชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้ขึ้นสูงมาก ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ
- หลังจากรับการฉีดวัคซีนแล้ว 3 วัน โอกาสแพ้และผลข้างเคียงจากวัคซีนจะพบน้อยมาก หรือน้อยกว่า 1 ในล้าน ซึ่งควรสังเกตอาการต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วัน โดยจากการศึกษาพบว่า หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 60 วัน จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก
อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ยังคงต้องเคร่งครัดมาตรการสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ จนกว่าโรคระบาดจะสงบลง
--------------------------
ที่มา :
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย