กสก.หนุนอัตลักษณ์ผลไม้ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มความยั่งยืนให้เกษตรกรไทย
กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ไทย ปี 2564 หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำการส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็น อันดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่การปลูกผลไม้อยู่ประมาณ 7.7 ล้านไร่
มีไม้ผลทั้งหมด 57 ชนิด ผลผลิต ต่อปีประมาณ 10.81 ล้านตัน ผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 80 สำหรับผลสด และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ของประชากรในประเทศ อีกร้อยละ 20 มีการส่งออกไปยังต่างประเทศมูลค่าไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งรูปแบบ ผลสดและการแปรรูป ส่งผลให้ผลไม้ของไทย เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ทำให้การบริหารจัดการผลไม้ในยุคนี้ต้องเน้นความสอดคล้องตามยุคตามสมัย รวมไปถึงต้องเร่งพัฒนาเกษตรกรไทย ให้ก้าวทันเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่ 4.0 ให้มากยิ่งขึ้น
และยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างมีข้อกำหนด และเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ทั้งจากสถานการณ์ของโควิด - 19 รวมไปถึงการแข่งขันทางการตลาดจากนานาประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มีความปลอดภัยและได้คุณภาพ และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทางด้านราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงฤดูกาลที่มีผลไม้จำนวนมาก ออกผลผลิตในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลทางด้านราคา รวมไปถึงผลผลิตที่ด้อยคุณภาพ
เราจึงต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานส่งออกเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยวิธีการที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรวมไปถึงการแปรรูป ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ไทย เล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ จำปาดะ ละมุด มะยงชิด มะม่วง ลางสาด ลำไย ลิ้นจี่ ส้มเกลี้ยง ส้มโอ อโวคาโด ล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ประจำท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า "อัตลักษณ์ผลไม้" มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่ จึงทำให้เหมาะสมที่จะส่งเสริมการเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่มี ศักยภาพและมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่ 4.0