PRINC ลุยดิจิทัลเฮลธ์แคร์ เปิดแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน มิ.ย.นี้
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีความแข็งแกร่งยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ เพื่อขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเป็นการลงทุนจากต่างขั้วธุรกิจระหว่าง บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า โดย RATCH ทุ่มเงินกว่า 1.55 พันล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น PRINC10%
“สาธิต วิทยากร” ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP)ให้ ราช กรุ๊ป จะช่วยให้การขยายโรงพยาบาลของบริษัททำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง เบื้องต้นคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลง 60 ล้านบาทต่อปี โดยการขยายโรงพยาบาลใหม่จะเน้นโมเดลการเข้าไปร่วมถือหุ้นและบริหาร (Healthcare Management) รวมถึงการซื้อกิจการ โรงพยาบาลขนาดกลางในจังหวัดเมืองรอง รวมถึงการพัฒนาอาคารที่มีศักยภาพเพื่อให้บริการโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ในเดือน มิ.ย.บริษัทเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มให้บริการทางการแพทย์บนช่องทางดิจิทัล (Digital Healthcare Platform) ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับ ราช กรุ๊ป และพันธมิตรอีกหลากหลาย โดยจะใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาท เบื้องต้นเป็นการขยายบริการทางการแพทย์แบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ไปยังกลุ่มลูกค้าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลในเครือของ PRINC โดยบริการดังกล่าวเหมาะสำหรับช่วงโควิด-19 เพราะสามารถพบแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล
ส่วนแผนการดำเนินการของ PRINC ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ตั้งเป้าขยายโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศ 20 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 แห่งใน 10 จังหวัด โดยคาดว่าในปี 2564 จะเปิดเพิ่มอีก 3-4 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับโรงพยาบาลคู่ค้าเพื่อเข้าถือหุ้นเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเมืองรองที่มีนโยบายสนับสนุนทางการแพทย์ หรือจังหวัดที่ยังขาดแคลนการแพทย์เอกชน ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก 4 แห่ง โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 4.5 พันล้านบาท
ถัดมา การขยายเครือข่ายปฐมภูมิที่เป็นคลินิกบัตรทองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 100 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 13 แห่ง โดยคาดว่าในปี 2564 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีกกว่า 20 แห่ง เบื้องต้นอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และคาดว่าในระยะถัดไปจะขยายการให้บริการไปยังต่างจังหวัด โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท
และสุดท้าย การเปิดศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุ 6 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ บริษัท นิฮอน เคเอ จำกัด (Nihon Keiei) บริษัทในเครือ NK Group จากประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นจะเริ่มเปิดให้บริการในกรุงเทพมหานคร ก่อนจะขยายไปยังจังหวัดที่มีผู้สูงอายุ โดยคาดว่าปีนี้จะเริ่มสร้างศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมให้บริการในระยะถัดไป งบลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท
เมื่อสอบถามถึงแหล่งเงินทุน “สาธิต” กล่าวว่า ในส่วนแรกบริษัทฯ จะได้รับเงินประมาณ 1.4 พันล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ราช กรุ๊ป และอีกประมาณ 1.5 พันล้านบาท มาจากการจำหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นอาคารสำนักงาน คือ อาคารบางกอก บิสสิเนส เซ็นเตอร์ เอกมัย กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการขอเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เข้ามาเป็นส่วนที่สองเพิ่มอีกประมาณ 2.9 พันล้านบาท รวม 5,500 ล้านบาท ในการลงทุนถึงปี 2566
“โครงการลงทุน 5.5 พันล้านบาทของเราจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 50% และที่เหลืออีก 50% เป็นเงินทุนของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังสำรองเงินทุนไว้อีก 500 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การสร้างโรงพยาบาลใหม่ ฯลฯ ในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนจำหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นโรงแรมเพิ่มเติม ได้แก่ โรงแรมแมริออท สาทร มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท และโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซัมเมอร์เซ็ท เอกมัย มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาทเช่นกัน โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซาลง”
ขณะที่เป้าหมายธุรกิจในปี 2564 คาดว่ารายได้จะยังสามารถเติบโตได้ในระดับเลข 2 หลัก (Double Digit) แม้ว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ จะเผชิญผลขาดทุนสุทธิ 161.57 ล้านบาท จากผลกระทบโควิด-19 แต่ในไตรมาส 2 มีรายได้ใหม่เข้ามาเดือนละประมาณ 40 ล้านบาท จากการให้บริการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยปัจจุบันให้บริการเต็มทั้งหมด 200 เตียง และเตรียมเปิดให้บริการเพิ่มอีก 60 เตียง ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่าผู้ป่วยจะกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น
“สำหรับปีนี้ต้องยอมรับว่าคงไม่คาดหวังเรื่องการเติบโต (Growth) มาก แต่เน้นดูแลผู้ป่วยในแต่ละจังหวัด และการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร่วมกับภาครัฐให้ได้มากที่สุด ขณะที่ในปี 2565 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าบริษัทสามารถเติบโตได้ปีละประมาณ 20% จากการเปิดให้บริการโรงพยาบาลใหม่ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรรายใหม่ เช่น ราช กรุ๊ป ซึ่งแสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มหากมีโอกาส”
ส่วนการเข้าถือหุ้นอันดับ 1 ใน บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ในนามส่วนตัว “สาธิต” กล่าวว่า ณ วันนี้ยังเป็นการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเงินปันผลเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากมีโอกาสร่วมมือกันในอนาคต โดย PRINC ถือเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก หากจะมีโอกาสร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ คงต้องขึ้นอยู่กับ BH เป็นหลัก