พืช'จีเอ็มโอ'จีนหนุนความมั่นคงด้านอาหาร

พืช'จีเอ็มโอ'จีนหนุนความมั่นคงด้านอาหาร

พืช'จีเอ็มโอ'จีนหนุนความมั่นคงด้านอาหาร โดยหน่วยงานด้านการตรวจสอบคุณภาพพืชเกษตรของกำลังตรวจสอบขั้นสุดท้ายและคาดว่าข้าวโพดจีเอ็มโอ รุ่ยเฟิง 125 จะได้รับการอนุมัติต้นปีหน้า

รัฐบาลจีน อนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชปรับแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ)ได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆวิจัยและพัฒนาพืชจีเอ็มโออย่างจริงจัง ด้วยความหวังว่าการปลูกพืชประเภทนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศและขยายอิทธิพลไปยังต่างประเทศได้

มณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักมาช้านานว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชหลากหลายชนิด กำลังมีบทบาทสำคัญในการเพาะพันธุ์พืชจีเอ็มโอ โดยพืชที่ปลูกได้ดีในพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของจีนในช่วงฤดูร้อนสามารถนำมาทดลองปลูกเป็นครั้งแรกบนเกาะไห่หนาน ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูใบไม้ผลิ จนได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจสาเหตุสำคัญเป็นเพราะสภาพอากาศในเขตร้อนที่ช่วยให้พืชจีเอ็มโอเติบโตให้ผลผลิตงอกงาม

บรรดานักวิจัยพันธุ์ข้าวจากหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน ซึ่งประจำอยู่ที่แปลงนาแห่งหนึ่งในมณฑลไห่หนาน ช่วยกันเก็บรวงข้าวจำนวนหนึ่งบรรจุใส่ห่ออย่างดี โดยบอกว่า“เราจะนำรวงข้าวพวกนี้กลับไปวิจัยที่เซี่ยงไฮ้เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถต้านเชื้อโรคต่างๆได้”

การทดลองปลูกข้าวจีเอ็มโอที่ไห่หนานเริ่มต้นขึ้นในช่วง 2493 พอมาถึงตอนนี้พื้นที่เพาะพันธุ์ข้าวกินพื้นที่กว่า 180 ตารางกิโลเมตร และทางการจีนเรียกพื้นที่เพาะปลูกที่ขยายเพิ่มขึ้นนี้ว่า“ซิลิคอน วัลเลย์ด้านเกษตรกรรม”ในฐานะที่ที่นี่เป็นแปลงพัฒนาพันธุ์พืช

ที่ผ่านมา จีนพัฒนาข้าวและข้าวโพดสายพันธุ์ต่างๆที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งขั้นตอนในการพัฒนาครอบคลุมถึงการเพาะพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ เรียกได้ว่าทุกวันนี้ การปรับแต่งพันธุกรรมพืชเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในจีนในฐานะที่ให้ผลผลิต่ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทนต่อศัตรูพืช หรือบางชนิดอาจจะทนต่อสภาพดินที่แห้งแล้ง อยู่ได้ในสภาวะที่เป็นดินเค็ม ดินเปรี้ยว ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีสมบัติเหมาะแก่การเก็บรักษาเป็นเวลานาน สามารถขนส่งได้เป็นระยะทางไกลโดยไม่เน่าเสีย อย่างกรณี มะเขือเทศที่สุกช้า

เมื่อพูดถึงการพัฒนาพืชจีเอ็มโอในจีน ต้องพูดถึงบริษัท“หยวน หลง ผิง ไฮ-เทค อะกริคัลเจอร์” ที่เพิ่งสูญเสีย“หยวน หลง ผิง” เป็นนักวิทยาศาสตร์วัย 91 ปี ผู้พัฒนาข้าวไฮบริดสายพันธุ์แรกไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ด้วยโรคชราและคุณปู่หยวนเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกิติมศักดิ์ของบริษัทก่อนที่จะเสียชีวิต

หยวน หลง ผิง ไฮ-เทค อะกริคัลเจอร์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2542 ได้พัฒนาและวิจัยข้าวโพดจีเอ็มโอ“รุ่ยเฟิง 125”ที่ต้านทานยาปราบศัตรูพืชตลอดจนหนอนเพลี้ยได้ดี ในเดือนเม.ย.รุ่ยเฟิง 125 ได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัยให้ตั้งโรงงานในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้

เมื่อปีที่แล้ว หยวน หลง ผิง ไฮ-เทค อะกริคัลเจอร์จับมือเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับบีเอเอสเอฟ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีเพื่อปรับปรุงผลผลิตข้าว ส่วนบริษัทปักกิ่ง ต้าเป่ยหนง เทคโนโลยี( Beijing Dabeinong Technology) ซึ่งเป็นบริษัทค้าอาหารสัตว์ที่พัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอก็ได้รับใบรับรองด้านความปลอภัยสำหรับข้าวโพดจีเอ็มโอรุ่นดังกล่าวด้วยเช่นกัน

การได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัยเป็นเครื่องยืนยันว่าพืชจีเอ็มโอที่บริษัทผลิตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์ขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันด้วยว่าพืชชนิดนี้มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ อีกทั้งใบรับรองนี้ยังเปรียบเหมือนเป็นการเปิดประตูให้บริษัทรวบรวมเครื่องไม้เครื่องมือ และพนักงานทั้งหมดช่วยกันผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกรชาวจีนทั่วประเทศ

ตอนนี้หน่วยงานด้านการตรวจสอบคุณภาพพืชเกษตรของรัฐบาลกลางกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขั้นสุดท้ายเริ่มตั้งแต่ในส่วนของการผลิตและด้านอื่นๆ และคาดว่าข้าวโพดจีเอ็มโอ รุ่ยเฟิง 125 จะได้รับการอนุมัติให้จัดจำหน่ายเร็วที่สุดต้นปีหน้า

แต่ขณะนี้มีพืชจีเอ็มโอไม่กี่ชนิดที่ผ่านการอนุมัติจากทางการจีน ในจำนวนนั้นรวมถึงฝ้าย โดยอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความคืบหน้าในเรื่องนี้ คืออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชของจีนยังอยู่ในขั้นเริ่มแรกของการพัฒนา และตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐบาลกลางจะทำหน้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชแต่เพียงฝ่ายเดียว เพิ่งจะมาปี 2543 นี้เองที่บริษัทต่างๆได้รับอนุญาตให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ได้ และมีบริษัทสองสามแห่งอย่าง หยวน หลง ผิง ไฮ-เทค อะกริคัลเจอร์ และปักกิ่ง ต้าเป่ยหนง เทคโนโลยีเท่านั้นที่สามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอได้

อุปสรรคอีกอย่างคือกระแสต่อต้านจากผู้บริิโภคที่ปฏิเสธพืชจีเอ็มโอและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มาจากพืชจีเอ็มโอ นับตั้งแต่ช่วงปี 2543 เอ็นจีโอต่างชาติและเครือข่ายสื่อทั่วโลกแสดงความกังวลว่ามีการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโออย่างลับๆ และท่ามกลางปมขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ทางการจีนต้องออกใบรับรองหรือใบอนุญาตให้มีการพัฒนาพืชจีเอ็มโอด้วยความรอบคอบและระมัดระวังอย่างมาก

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าจีนต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารทำให้ทางการจีนเริ่มผ่อนคลายกฏระเบียบในการพัฒนาพืชจีเอ็มโอ โดยปัจจุบัน จีนเป็นประเทศนำเข้าสุทธิพืชเกษตรประเภทต่าวๆ อาทิ ข้าวสาลี และเมล็ดพันธุ์ผักจากสหรัฐ ญี่ปุ่น เดนมาร์กและประเทศอื่นๆ และเมื่อปีที่แล้ว จีนนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,900 ล้านหยวน (450 ล้านดอลลาร์)หรือคิดเป็นสามเท่าของยอดส่งออก

การผลิตอาหารสัตว์ด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับจีนในฐานะที่จีนเป็นแหล่งผลิตเนื้อหมูและเนื้อสัตว์ปีก ถ้าไม่มีการพัฒนาศักยภาพในเรื่องของอาหารสัตว์ จีนก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืช 100% ซึ่งไม่น่าจะส่งผลดีต่อจีนที่พยายามมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรืออาจทำให้เกิดผลเสียอื่นๆตามมา