ส่งออกอาหารอั้นรับออเดอร์ เหตุโควิดทำต้นทุนพุ่งซ้ำปมขาดแรงงาน
การส่งออกปี 2564 กำลังเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักขับเคลื่อนประเทศ ไม่ให้หยุดนิ่งหรือถอยหลังลงไป จากปัญหาการระบาดโควิด-19 ซ้ำซาก แต่การส่งออกปีนี้จะดีอย่างที่คาดไว้หรือไม่ กลุ่มสินค้าอาหารมีสัดส่วนต่อการส่งออกถีึง 16% มีสถานการณ์ดีจริงอย่างที่คาดการณ์
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การผลิตสินค้าของ ซีแวลู ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดของโควิด 19 ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงการบริหารงาน ระเบียบและสถานที่ของโรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารและแรงงานเป็นสำคัญเพราะแรงงานส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแรงงานต่างชาติ จึงต้องจัดที่พักพร้อมเครื่องอำนวยความสะดวก เพื่อไม่ให้ออกไปนอกพื้นที่ การเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน ต้องวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดร่างกาย อย่างเคร่งครัด หากพบพนักงานมีไข้สูง ไอ จะแยกตัวออกจากที่พักทันที ซึ่งโรงงานได้จัดเตียงสนามไว้ต่างหาก พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาบริการ
"ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องทำ เพื่อให้การผลิตสินค้าเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แม้ว่าจะเกิดการระบาดของโรค แต่ความต้องการอาหารยังเพิ่มขึ้นและคาดว่าหลังจากนี้เมื่อทั่วโลกได้รับวัคซีนมากขึ้น สถานการณ์ทุกอย่างจะกลับมา ปัจจุบันซีแวลู ได้ขยายไลน์การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย หลังจากความต้องการของตลาดสูงขึ้นจาก ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์"
พจน์ ยังกล่าวในฐานะ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยว่าการผลิตสินค้าอาหารเพื่อส่งออกของไทยยังมีอุปสรรค ในด้านการขาดแคลนแรงงาน ที่กลับบ้านไปในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้อีกจนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้รัฐบาลรับทราบแล้วและต้องรอผลการฉีดวัคซีน อย่างเดียวเท่านั้นว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด เพื่อกำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานใหม่อีกครั้ง
สำหรับด้านการขนส่งทางเรือ ปรับค่าระวางเพิ่มขึ้น และขาดแคลนตู้สินค้า เบื้องต้น สภาหอฯ ได้ผลักดันให้รัฐบาลอนุญาตให้เรือขนาด 400 เมตรเข้ามาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบังได้แล้วส่วนปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท นั้น ในปัจจุบันเริ่มอ่อนค่าลงบ้างแล้ว อยากให้ประคองในระดับนี้เอาไว้ ซึ่งจะช่วยภาคส่งออกได้
นอกจากนี้ แม้ไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่านี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยสามารถแปรรูปขั้นสูงจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น ไก่ กุ้ง ทูน่าไทยมีศักยภาพแปรรูปแต่วัตถุดิบไม่เพียงพอเช่นทูน่า 90 % นำเข้าวัตถุดิบรัฐบาลจึงควรแก้ไขกฎรเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมแปรรูปให้นำเข้าวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น
คึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่าปี2564 มีปัจจัยหนุนกรณีตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน ถึง50 %ของการส่งออกไก่ทั้งหมดจัดโอลิมปิค ทำให้ผ่อนคลายมาตรการ และบราซิลที่มีปัญหาโควิดทำให้ไม่สามารถส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่นได้ ผู้นำเข้าจึงหันมาสั่งซื้อจากไทยแทน
สำหรับตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู ไทยได้รับโควตาส่งออก ประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี แต่เนื่องจากบางประเทศยังมีล๊อคดาวน์อยู่ การส่งออกจึงลดลงประมาณ 6 % ซึ่งกรณีโควิด-19ระบาดในโปแลนด์ หากส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไก่ ก็เป็นไปได้ที่อียูจะหันมาสั่งซื้อจากไทยแทนส่วนตลาดจีน การส่งออกยังมีปัญหาการตรวจสอบที่เข้มงวดขั้นตอนยุ่งยากมากขึ้นในช่วงต้นปี เพราะจีนกลัวการปนเปื้อนโควิด ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น และเกาหลีใต้ การส่งออกยังทรงตัว
ทั้งนี้ ออเดอร์สั่งซื้อไก่จะเข้ามามาในช่วงไตรมาส 3 และต้นไตรมาส4 เพื่อเตรียมใช้ในช่วงเทศกาล ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังรับได้ไม่มาก เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ที่กลับไปช่วงปลายปีและเข้ามาไม่ได้ในขณะที่บางกลุ่ม เอ็มโอยู หมดอายุ ไม่สามารถต่อสัญญาได้ โดยรวมแล้วแรงงานในอุตสาหกรรมไก่ หายไปประมาณ 1 หมื่นคน ถือว่ามากและไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านวัตถุดิบแพงทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลือง จากภัยแล้ง