ก้าวไกลร้องกมธ.ป.ป.ช. สอบปมผู้พิพากษาไทย เอี่ยวรับสินบนโตโยต้า
"รังสิมันต์ โรม" ส.ส.ก้าวไกล ร้องกมธ.ป.ป.ช.สอบปมผู้พิพากษาไทยเอี่ยวรับสินบนโตโยต้า ชี้ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามทุจริตเเละประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ใขอห้พิจารณาสืบสอบหาข้อเท็จจริงกรณีรายงานข่าวว่า บริษัทโตโยต้าให้สินบนผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมไทย
โดยรังสิมันต์ กล่าวว่าในวันนี้ตนได้ยื่นเรื่องต่อพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามทุจริตเเละประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นที่เกี่ยวกับการรับสินบนซึ่งเกี่ยวพันกับผู้พิพากษาจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นกรณีที่เราทราบจากสำนักข่าวจากสหรัฐอเมริกาโดยตนหวังว่าจะมีการตรวจสอบในประเด็นต่างๆ ต่อไป โดยหนังสือที่ตนส่งมานั้นมีรายละเอียดทั้งภาษาไทยเเละภาษาอังกฤษโดยเป็นประเด็นที่หลายท่านคงทราบเเล้ว
“ความยุติธรรมกระบวนการยุติธรรมของประเทศเราท้ายที่สุดเเล้วจะเป็นมรรคเป็นผลหรือไม่ กรณีนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ เรามาทราบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน เรามาทราบว่าอาจมีการรับสินที่เกี่ยวกับผู้พิพากษาจากต่างประเทศ ดังนั้นตนจึงขอให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้คู่ขนานต่อไป เเละขยายผลให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันให้กับกระบวนการทางยุติธรรมของไทยต่อไป”
ด้านพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์กล่าวว่าตนเพิ่งได้รับเรื่องในวันนี้ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ เเต่ว่าตามรัฐธรรมนูญ 129 วรรค 4 ได้ยกเว้นในการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการ ละการบริหารงานบุคคลของศาล ซึ่งตนได้ฟังจากเรื่องดังกล่าวเเล้ว กรณีนี้ไม่เข้าข่าย เพราะเป็นการดำเนินการตรวจสอบคู่ขนาน แม้ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จะดำเนินการต่อไป เเละจะมอบให้ ส.ส. ธีรัจชัย พันธุมาศ ในฐานะกรรมาธิการเป็นผู้ดูเเลเรื่องดังกล่าว
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนนั้นรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้นเราจะต้องหาความจริงร่วมกันกับสำนักงานศาลยุติธรรม หากเป็นเรื่องจริงตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศว่าได้ตั้งคณะทำงานอยู่ 2 ชุด ชุดเเรกคือ สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม ชุดที่ 2 เกี่ยวกับผู้พิพากษศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ที่ตรวจสอบ กรณีเเบบนี้เป็นเรื่องดี เเต่ตนคิดว่าอยากใหัเป็นชุดที่ใหญ่กว่านี้ นั่นคือ ประธานศาลฎีกา จะต้องเป็นประธานในการดำเนินการตรวจสอบเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นเรืองที่ดี
และหากกรณีที่โฆษกศาลยุติธรรมได้เเถลงว่า มีการดำเนินทางวินัย ตนขอตั้งขอสังเกตว่าการดำเนินการเพียงเท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้าเรื่องดังกล่าวพิสูจน์เเล้วว่าเป็นเรื่องจริง สถาบันทางตุลาการของไทยจะมีปัญหาว่าสามารถถูกเเทรกเเซงได้หรือไม่ เเละจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กรอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่จะต้องชี้เเจงต่อประชาชน
“ผมคิดว่าถ้าทำเเบบนี้ได้ จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมา แต่ก่อนหน้านี้เคยมีคดีบอสกระทิงเเดงขับรถชนตำรวจ เเละคดีคุณสมบัติของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง มันบ่งบอกว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยจะต้องมีข้อที่ให้โต้เเย้ง
ดังนั้น ผมคิดว่าหากเราตรวจสอบในเรื่องนี้ ในฐานะ กมธ.ป.ป.ช. ที่เป็นองค์กรตรวจสอบเดียวที่มาจากประชาชน เราก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยรัฐธรรมูญมาตรา 129 ที่ระบุไว้ห้ามตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการ และการบริหารงานบุคคลของศาล เเต่ในกรณีนี้กรรมาธิการจะดำเนินการตรวจสอบว่าทุจริตเเละประพฤติมิชอบต่อกระบวนการทางยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้นการตรวจสอบคู่ขนานกับศาลยุติธรรมจำเป็นต้องมี
เเละอีกส่วนคือฝ่ายบริหาร โดยผมขอเรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตรวจสอบด้วย โดยให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ก็ควรต้องมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนรอบข้างก็สามารถดำเนินคดีได้เหมือนที่ผ่านมา”
โดยธีรัจชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนไม่ได้มองถึงเรื่องตัวบุคคล เเต่มองถึงโครงสร้างความยุติธรรมในเชิงหลักการ โดยตนจะดำเนินภารกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีความลำเอียงและอคติในการปฏิบัติหน้าหน้าที่หาความจริง เพื่อวางระบบยุติธรรมของประเทศให้น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะหากปล่อยกรณีนี้ไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศ และโดยเฉพาะหากพบว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เราก็จะยืนยันโต้แย้งข้อมูลของหน่วยงานองค์กรต่างประเทศที่มาทำให้เราเสียหาย แต่ถ้าพบว่าเป็นความจริง ศาลยุติธรรมก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่างด้วย