ธุรกิจประกันชีวิต4 เดือน โต3.25% ยอดขายยูนิตลิงค์พุ่งกระฉูด
ธุรกิจประกันชีวอต 4 เดือนแรก ปี 2564 เบี้ยประกันภัยรับรวม 195,544.03 ล้านบาท โต 3.25% เป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 56,227.53 ล้านบาท โต 10.38% รับอานิสงส์ตลาดหุ้นสดใส ดันยอดขายยูนิตลิงค์พุ่ง 103% พร้อมปรับผลิตภัณฑ์และบริการรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิต 4 เดือนแรก ปี 2564 (มกราคม-เมษายน) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 195,544.03 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน3.25%
โดยแยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 56,227.53 ล้านบาท เติบโต 10.38% ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 31,107.34 ล้านบาท เติบโตลดลง 6.35% เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 25,120.19 ล้านบาท เติบโต 41.72% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 139,316.51 ล้านบาท เติบโต 0.63% อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 81%
ซึ่งช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลัก ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 91,040.64 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 0.94% มีสัดส่วน 46.56% รองลงมาเป็นการขายผ่านธนาคาร เบี้ยประกันภัยรับรวม 83,587.68 ล้านบาท เติบโตขึ้น 6.71% มีสัดส่วน42.75 %
ตามด้วยช่องทางนายหน้าประกันชีวิต เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,355.61 ล้านบาท เติบโตลดลง 1.56% มีสัดส่วน5.30% ช่องทางอื่นๆ เบี้ยประกันภัยรับรวม 5,565.67 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.92% มีสัดส่วน 2.85% ช่องทางโทรศัพท์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 4,778.66 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.41 % มีสัดส่วน 2.44%
ช่องทางดิจิทัลเบี้ยประกันภัยรับรวม 202.57 ล้านบาท เติบโตลดลง 3.59% มีสัดส่วน0.10 % และ ช่องทางไปรษณีย์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 13.2 ล้านบาท เติบโตลดลง 15.22% มีสัดส่วน 0.01%
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงคือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 14,509.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 103.47% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มี เบี้ยประกันภัยรับรวม 32,025.87 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น5.77% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่อาจจะยังมีเบี้ยประกันภัยรับรวมไม่สูงมากนักแต่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8.57%
"จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน(Universal Life และ Unit Linked) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันได้ครบทุกช่วงวัย และยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนร่วมด้วยตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ ประกอบกับสภานการณ์ปัจจุบันมูลค่าหุ้นและรายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดีขึ้นด้วย"
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น 8-10% ทุกปี รวมถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และโรคร้ายแรงยังอยู่รอบตัวเรา ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจึงได้มีการปรับปรุงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งในรูปแบบเหมาจ่ายหรือเพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมรอบด้าน ตลอดจนบริการเสริมในด้านต่างๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองอย่างดีที่สุดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หรือโรคร้ายอื่นๆ ก็ตาม
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็ถือว่าเป็นแบบประกันที่ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยเข้าสูงสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564
*(มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20%) และเข้าสูงสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574(มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28%) ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ, United Nations