“จุรินทร์”แจงกลางสภาแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรสำเร็จทุกตัว
“จุรินทร์”แจงแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เผย ราคาขยับปรับตัวสูงขึ้น ผลจากนโยบายประกันรายได้ การแก้ปัญหาเชิงรุก โวเกษตรพอใจ เดินหน้าขับเคลื่อนส่งออก ดันเศรษฐกิจไทยกระเตื้อง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอภิปรายห่วงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำและการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรในระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่า ปีนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรทุกตัวโดยเฉพาะพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา มีราคาที่ดีโดยยางแผ่นแผ่นดิบชั้น 3 ราคากก.ละ 60 กว่าบาท ยางก้นถ้วยราคา 20 บาทต่อกก.จากเดิม ราคา16- 17 บาทต่อกก. ราคาปาล์มน้ำมันราคา 5-7 บาทต่อกก. ราคามันสำปะหลัง 2 บาทต่อกก. ส่วนราคาข้าวแม้ราคาจะตำว่าปีที่แล้วแต่ก็ยังมีราคาสูงโดยราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทต่อตัน เป็นต้น ซึ่งราคาพืชผลทางการเกษตถือว่ามีการปรับตัวสูงขึ้น แต่หากราคาพืชตัวไหนตกต่ำก็มีโครงการประกันรายได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เกษตรกรพอใจ
สำหรับราคาผลไม้ ทางกระทรวงพาณิชย์ก็วางมาตรการเชิงรุกก่อนที่ผลไม้จะออกสู่ตลาดใน 16 มาตรการ จนทำให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ทุเรียนราคา 100-130 บาทต่อกก. มังคุดราคา 150 บาทต่กก.นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาล้งที่ประกาศราคารับซื้อผลไม้ไม่เป็นธรรม โดยกำหนดให้ล้งต้องประกาศราคารับซื้อผลไม้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็ส่งผลให้ราคาผลไม้ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของการส่งออกผลไม้ไทยที่ปี 64 ไทยส่งออกผลไม้มีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาทปีนี้เพียง 4 เดือนแรกตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. ไทยส่งออกผลไม้ไปแล้วมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท
ขณะที่ปัญหาราคาพริกเขียวมันใต้ที่ตกต่ำเหลือเพียงกก.ละ 10 บาท ตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าไปช่วยรับซื้อห้ในราคากก.ละ5 บาท โดยพ่อค้าจะรับซื้อในราคากก.ละ 10 บาทเกษตรกร ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ส่วนปัญหาฟักทอง นั้นตนได้ได้เป็นประธานปล่อยคาราวานขบวนฟักทอง ณ วัดเกษตรชลธี หมู่ที่ 1 ตําบลตะเครียะ อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อระบายฟักทองออกจากอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ไปยังกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกจนถึงชายแดนจังหวัดตราด เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ตัน และยังได้ประสานงานรับออเดอร์จากห้างสรรพสินค้าและภาคส่วนอื่นๆ สามารถระบายฟักทองอำเภอระโนดและพื้นที่อื่นๆ ได้แล้ว 400 ตัน ส่งผลให้ราคาฟักทองขับขึ้นต่อเนื่อง ส่วนปัญหาลักลอบนำเข้าพืชผลทางการเกษตรนั้นเรื่องนี้ตนได้นำเข้าที่ประชุมครม.โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดดูแลการลักลอบนำเข้า และยังออกมาตรการนำเข้าปาล์มน้ำโดยห้ามนำเข้าทางบกให้นำเข้าทางเรือโดยผ่านด่านที่กำหนดเท่านั้นและการส่งออกก็ต้องส่งออกผ่านด่านที่กำหนดเช่นกัน
นายจุรินทร์ กล่าว สำหรับปัญหาเกลือทะเลราคาตกเนื่องจากเกลือต่างประเทศเข้ามาตีตลาด โดยเฉพาะเกลือจากอินเดียก็นำเข้ามาในไทยมาก ประกอบกับขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย ทำให้เกลือมันล้นตลาด ซึ่งมีปัญหาในหลายจังหวัด ทั้งเพชรบุรี ทั้งสมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัด รวม 7 จังหวัด ล่าสุดตนไปจ.เพชรบุรีเพื่อประชุมชาวนาเกลือหลายจังหวัดที่มาร่วมกันที่ตลาดการเกษตรท่ายาง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหา
โดยในระยะสั้น จะใช้เงิน คชก. เข้ามาช่วยดูแล ในเรื่องราคา หรือช่วยดูแลชดเชยชาวนาเกลือบางส่วน ส่วนระยะกลางและระยะยาวได้สั่งการให้จังหวัดสำคัญๆ ที่ผลิตเกลือจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร เพชรบุรี เป็นต้น ได้ทำแผนเกลือขึ้นมา เพื่อที่จะได้ดำเนินการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งในเรื่องของการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทำสบู่ สครับขัดตัว ทำใช้ในการฟอกย้อมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็จะเข้าไปช่วยดูครับ ในเรื่องของการจัดตั้งหมู่บ้านทำมาค้าขาย ที่โคกขาม จ.สมุทรสาคร เพื่อจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตด้วย ส่วนเพชรบุรีก็มอบไปแล้วว่าให้ไปช่วยดูว่าตรงไหน อย่างไร
ส่วนระยะยาวนั้นตนได้ประชุมร่วมกับกรมศุลกากร และภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการดำเนินการที่จะออกประกาศฉบับหนึ่งซึ่งผ่าน ครม. แล้วอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฏีกา คาดว่าวันที่ 9 มิ.ย.นี้จะเสร็จสิ้น จากนั้นตนก็ลงนามได้ โดยเนื้อหาในประกาศดังกล่าวได้กำหนดเกลือออกเป็น 2 ประเภท คือ เกลือบริโภค กับเกลืออุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันในการนำเข้าเกลือมีพิกัดเดียวจึงมีความพยามนำเข้าเกลือบริโภคเป็นเกลืออุตสาหกรรม เพราะราคาและมาตรการนำเข้า มีความแตกต่างกัน แต่จากนี้ไปจะแยกเป็น 2 พิกัดคือ พิกัดเกลือบริโภค และพิกัดเกลืออุตสาหกรรม 2. ผู้นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนเพื่อกระทรวงพาณิชย์จะได้ควบคุมได้ 3. ต้องมีใบ CO (Certificate of Origin) ที่เป็นใบแจ้งแหล่งกำเนิดสินค้าว่านำเกลือมาจากไหน อย่างไร และ 3. การกระจายเกลือที่นำเข้าไปที่ไหน อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้กำกับดูแลใกล้ชิด ไม่นำมาตีตลาด ทั้งเรื่องราคา ปริมาณ และการแจ้งพิกัด
สำหรับการส่งออกนั้นการส่งออกถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า การท่องเที่ยวเรายังเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แม้แต่ไทยเที่ยวไทยก็ยังเป็นปัญหาอุปสรรค เพราะวิกฤติโควิดที่ระบาดอยู่ปัจจุบัน ส่วนการท่องเที่ยว inbound ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาก็เกือบจะเรียกว่า ต้องรอการฉีดวัคซีน ซึ่งเราจะนับหนึ่งที่ภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค.นี้ถ้าฉีดวัคซีนได้ตามเป้า ทุกอย่างก็ถึงจะเริ่มได้ เพราะฉะนั้นการส่งออกจึงเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้อย่างน้อยก็ 2% กว่าถึง 3% กว่า ตัวเลขเฉลี่ยตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการส่งออกกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ต้นปีแล้ว ล่าสุดตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน 4 เดือนขยายตัว 26.4% ทำมูลค่าการค้า 500,000 กว่าล้านบาท ซึ่งตัวเลขก็จะนำไปรวมกับการส่งออก