หนุนโครงการแนวไม้ไผ่กันคลื่น เร่งแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 3 กม. พื้นที่เพชรบุรี

หนุนโครงการแนวไม้ไผ่กันคลื่น เร่งแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 3 กม. พื้นที่เพชรบุรี

"วราวุธ ทส." ส่งมอบโครงการแนวไม้ไผ่กันคลื่น มอบ "ที่ปรึกษายุทธพล" เร่งหารือ "กรมทะเล" แก้ปัญหากัดเซาะ 3.19 กม. จังหวัดเพชรบุรี

สถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ยังคงพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ หลายหน่วยงานได้พยายามแก้ไขปัญหาแต่บางโครงการกลับส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ใช้แนวคิดการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่หาดโคลน

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องรักษาสมดุลธรรมชาติและป้องกันผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมได้ส่งมอบแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นให้ชาวจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันดูแลและใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกันชายฝั่งและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนหลังแนวไม้ไผ่ต่อไป

162269718714

ทั้งนี้ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเร่งหารือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีอีกกว่า 3.19 กิโลเมตร โดยต้องไม่ก่อผลกระทบพื้นที่ข้างเคียงและเกิดความยั่งยืน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการส่งมอบโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน บริเวณตำบลปากทะเลและตำบลบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี ว่า หลักการทำงานของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และ รักษาประโยชน์อันจะเกิดแก่พี่น้องประชาชนส่วนรวม หากปัญหาใดเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือพี่น้องประชาชน ตนจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกทันที ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและพี่น้องประชาชนในพื้นที่

โดยที่ผ่านมาตนได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งในภาพรวมของประเทศยังคงเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอีกถึง 87 กิโลเมตร จากความยาวชายฝั่งทั้งสิ้น 3,151 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้ ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการกำกับหน่วยงานภายในกระทรวง และประสานหน่วยงานภายนอก รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบข้างเคียงกับพื้นที่อื่น เป็นไปตามแนวทางและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สำหรับวันนี้ (3 มิถุนายน 2564)

ตนได้มาส่งมอบแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2564 ระยะทางปักกว่า 4,310 เมตร ในพื้นที่ตำบลปากทะเล 2,770 เมตร และตำบลบางแก้ว 1,540 เมตร ให้กับจังหวัดเพชรบุรี ได้ดูแลร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประโยชน์จากแนวปักไม้ไผ่ดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลนแล้ว ยังมีส่วนช่วยเร่งการตกตะกอนและเพิ่มพื้นที่หาดเลนหลังแนวไม้ไผ่ อันจะส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีกด้วย สุดท้ายตนอยากจะฝากพี่น้องประชาชนจังหวัดเพชรบุรีว่า

162269720673

“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมมนุษย์ การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การทำอย่างฝืนธรรมชาติ แต่ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน การปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น คือ การใช้วัสดุธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ ซึ่งง่ายต่อการจัดการและดูแล รักษาสมดุลธรรมชาติและยังประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ท่านกำกับดูแลแก้ไขปัญนี้อย่างใกล้ชิด” นายวราวุธ กล่าว

ด้าน ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า

“ตนในฐานะลูกหลานชาวเพชรบุรี ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี จังหวัดเพชรบุรี นอกจากความโดดเด่นเรื่องประเพณีและอาหารที่สร้างชื่อแล้ว จังหวัดเพชรบุรี ยังมีชายหาดที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ ชายหาดชะอำ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างมาก และยังมีชายหาดสำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งก็ยังคงส่งผลกระทบต่อความสวยงามและระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากรายงานสถานภาพการกัดเซาะชายฝั่ง ในปัจจุบันพบว่าพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาในจังหวัดเพชรบุรี ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกราว 7.69 กิโลเมตร บริเวณบ้านแหลม ปากทะเล และบางแก้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นหาดโคลน ระยะทางประมาณ 4.50 กิโลเมตร จะดำเนินการแก้ไขเสร็จภายในปี 2564 นี้และบริเวณที่เป็นหาดทรายในพื้นที่บ้านหนองขนาน
ปึกเตียน บางเก่า และชะอำระยะทางอีกกว่า 3.19 กิโลเมตร

162269722438

ซึ่งตนจะได้หารือกับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยเร็วและยั่งยืน ไม่ก่อผลกระทบข้างเคียงให้กับพื้นที่อื่น เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการและมาตรการต่าง ๆ จะต้องผ่านความเห็นชอบของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน การแก้ไขปัญหาจะเกิดจากความคิดและความร่วมมือของพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรีเป็นสำคัญ”ดร. ยุทธพล กล่าวในที่สุด