มกอช. ยกระดับเกษตรไทยได้มาตรฐาน ฉลองวัน World food safety day
มกอช. มุ่งยกระดับภาคการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารอย่างมั่นคงและยั่งยืน หลัง UN ประกาศ 7 มิ.ย. เป็น วัน World food safety day
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า "World Food Safety Day" เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกันทำมาตรฐานโลกที่เรียกว่ามาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) โดยเมื่อปี 2562 ทั้งสององค์กรได้ร่วมกันเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ให้ประกาศหนึ่งวันในแต่ละปีเป็นวัน "World food safety day" หรือ "วันอาหารปลอดภัยโลก" ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้เห็นชอบและกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายน ของทุกปีเป็น World food safety day
และส่งเสริมให้ทั่วโลกแต่ละประเทศจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว เพื่อกระตุ้นและเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยอาหารของโลก โดยในปี 2562 มีการจัดกิจกรรมขึ้นเป็นปีแรก ส่วนในปี 2564 นี้ ทางสหประชาชาติได้กำหนดธีม "Safe food now for a healthy tomorrow" หรือ "อาหารปลอดภัยวันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีวันพรุ่งนี้" ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า ณ หากต้อการสุขภาพที่ดีในวันพรุ่งนี้ ก็จะต้องได้อาหารที่ปลอดภัยในวันนี้ เพราะฉะนั้นความปลอดภัยอาหารต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และต่อเนื่องไปในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 2562 มกอช. ได้ร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ "งานความปลอดภัยอาหารโลก" หรือ World Food Safety Day 2019 ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ส่วนในปี 2563 ถึงปัจจุบัน อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรม ก็มาพูดคุยกับประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญของวันดังกล่าวและเข้าใจในภารกิจต่างๆ ที่มีการดำเนินการขึ้นเพื่อให้เกิดอาหารที่ปลอดภัย
นายพิศาลฯ กล่าวว่า มกอช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องมาตรฐาน จะเริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรที่กำหนดขึ้นจะครอบคลุมทั้งการผลิตด้านพืช ด้านสัตว์น้ำหรือปศุสัตว์ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ดี มาตรฐานการผลิตที่ดีในระดับฟาร์ม ต่อเนื่องมาจนถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีในระดับแปรรูปของสินค้าเกษตรต่างๆ
โดยปัจจุบัน มกอช. ได้มีการกำหนดมาตรฐานไปแล้ว จำนวน 365 เรื่อง ซึ่งในมาตรฐานทั้งหมดที่เกี่ยวกับอาหารต้องมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของทุกประเทศ และเป็นกฎเกณฑ์ให้เกษตรกร หรือผู้ผลิตปฏิบัติตาม เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและมีความปลอดภัย
ทั้งนี้ เมื่อกำหนดมาตรฐานแล้ว หลักสำคัญคือการนำไปส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรทั่วประเทศนำไปปฏิบัติตาม เมื่อเกษตรกรนำมาตรฐานไปปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นระดับฟาร์มหรือระดับการแปรรูป และต้องการใบรับรองมาตรฐาน จะมีหน่วยงานตรวจสอบรับรอง ไปตรวจสอบกระบวนการผลิต เมื่อผ่านการตรวจสอบรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานครบทุกข้อก็จะได้เครื่องหมายรับรองไปติดที่สถานที่ผลิต แปลงเกษตรกร หรือติดบนสินค้าเกษตร
เครื่องหมายรับรองมาตรฐานหลักๆ คือเครื่องหมาย Q ที่รับรองคุณภาพ และความปลอดภัยกระบวนการผลิต เครื่องหมายออแกนิคไทยแลนด์ ให้กับสินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทั้ง 2 เครื่องหมายนี้จะเป็นการยืนยันให้ได้รับทราบว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจสอบรับรองและได้มาตรฐาน สามารถเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรนั้น
โดย มกอช. จะเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเอามาตรฐานต่างๆ เข้าไปสู่กลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าสู่มาตรฐานแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือมีการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ด้านมาตรฐานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการเรียกว่า Smart Farmer ซึ่งจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรสาขานั้นๆ เราก็นำความรู้ด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารใส่ไปให้ Smart Farmer เพื่อให้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงแนะนำมาตรฐานให้เกษตรกรต่อไป
นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงสินค้าเกษตรมาตรฐานกับตลาด ตามนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งก็จะมีการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจเครื่องหมายรับรอง Q หรือเครื่องหมายรับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ โดยได้มีการจัดทำโครงการร่วมกับตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งห้างที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Q Restaurant คือร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานซึ่งเป็นวัตถุดิบปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมี Q Restaurant ที่ได้รับการรับรองไปแล้วกว่า 3000 แห่งทั่วประเทศ
"แนวทางที่แนะนำผู้บริโภคเลือกบริโภคให้ปลอดภัย อย่างแรกคือการเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีเครื่องหมายรับรอง อย่างที่สองคือเลือกซื้อจากผู้ขายที่มั่นใจว่าผ่านการตรวจสอบควบคุมจากทางหน่วยงานของรัฐแล้ว รวมทั้งซื้อสินค้าเกษตรหรืออาหารที่มีที่มาที่ไป ทำการตรวจสอบย้อนกลับได้ หรือการซื้อจากช่องทางออนไลน์ หรือเดลิเวอร์รี่ก็มีประโยชน์ ทำให้ท่านไม่ต้องไปสัมผัสกับคู่ข่ายที่กังวลว่าจะเป็นโควิดหรือไม่ ทั้งนี้ หากท่านเลือกซื้อสินค้าให้ลองสังเกตว่าบนภาชนะบรรจุสินค้าที่เป็นสินค้าเกษตร ที่ใช้เป็นอาหารมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือไม่ อาจเป็นเครื่องหมาย Q หรือถ้าเป็นสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์ก็จะมีเครื่องหมายออร์แกนิคไทยแลนด์ติดอยู่
อันนี้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยได้คุณภาพ หรือหากสั่งซื้อสินค้าจากตลาดสด หรือห้าง Modern Trade ตัวสินค้าอาจจะไม่ได้ติดเครื่องหมาย แต่ว่าหรือห้าง ตลาด นั้นได้การรับรองว่าเป็นแหล่งที่ขายสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน หรือหากเลือกไปนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร หากมีป้าย Q Restaurant ท่านก็จะมั่นใจว่าร้านนั้นใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย หรือหากจะซื้อสินค้าเกษตรออนไลน์ก็สามารถเข้าไปดูในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะที่ทาง มกอช. พัฒนาขึ้นมา เรียกว่า DGT FARM ที่นำเอาสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเข้ามาจำหน่าย ถ้าท่านเลือกซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้ก็จะเป็นสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานทั้งหมด"