สภาเกษตรฯออกโรงจี้รัฐ แก้ปัญหาโรคระบาดสัตว์
สภาเกษตรกรฯเตรียมระดมปัญหาโรคสัตว์ 22 มิ.ย.นี้เสนอรัฐหาทางแก้ หลังโรคระบาดรุมทำเข้มมาตรการป้องกันทำต้นทุนพุ่ง ซ้ำเกษตรกรรายย่อยหลุดจากระบบ70-80% ห่วงกระทบกลไกผลิต ขณะ ลัมปีสกินระบาดซ้ำ ด้านปศุสัตว์ย้ำ ASF ยังไม่ถึงไทย
นายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 1 ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า การระบาดของโรคในสุกร ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF แต่มีการระบาดเป็นวงกว้างทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ระยะหลังเริ่มเข้าสู่โซนภาคกลาง เช่น จังหวัดนครปฐม จ.สุพรรณบุรี ราชบุรี รุกลามเป็นวงกว้าง ทำให้เกษตรกรต้องเร่งจำหน่ายในราคาถูก17- 60 บาทต่อกิโลกรัม กรณีการสุ่มตรวจเลือดผลเป็นบวกก็ต้องทำลายทิ้งส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี่ยงสุกรรายย่อยหายไปจากวงจร 70-80%
นอกจากนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงวัว กระบือยังมีปัญหาโรคลัมปี สกิน ทำให้ต้องวางระบบควบคุม รักษาตามอาการ ให้ยาฆ่าเชื้อ เข้มงวดกับคนงานที่เข้า-ออก ไม่มีละเว้นแม้กระทั่งโทรศัพท์ รถบรรทุกที่เข้าในฟาร์มต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อและกักไว้ อบฆ่าเชื้ออีกครึ่งชั่วโมงทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้รับการร้องเรียนมาจากเกษตรกรมาจำนวนมาก ดังนั้นจึงจะประชุมออนไลน์ ในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 เพื่อสรุปและนำเสนอขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลต่อไป
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในขณะนี้ไทยยังไม่พบการระบาดของASFแต่สุกรที่ล้มตายโดยเฉพาะในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยนั้นคือ โรคPorcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS)หรือเพิร์ส ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE อย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์และมาตรการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและรับ
โดยมาตรการเชิงรุก ได้เก็บตัวอย่างโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ ทั้งการนำสุกรเข้าโรงฆ่าและซากสุกรที่นำออกจำหน่ายว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ สั่งการให้อาสาสมัครของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ เข้าไปตรวจเยี่ยมฟาร์มพร้อมให้บริการ แนะนำมาตรฐานฟาร์ม แนวทางจำกัดซากในกรณีที่มีการป่วยหรือตาย ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งผ่านแอพลิเคชั่นของกรมปศุสัตว์ได้ทันที
การเคลื่อนย้ายสุกรออกจากฟาร์มทั้งในเขตและข้ามเขต จะเก็บตัวอย่างฟาร์มก่อนเคลื่อนย้าย รวมทั้งแจ้งให้ทุกจังหวัด ประเมินความเสี่ยงการเลี้ยงสุกร กรณีป่วย ตาย อย่างผิดปกติ อย่างน้อย 3 % จะต้องทำลายสุกรทั้งหมด แล้วเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบหาเชื้อ พร้อมประกาศควบคุมทั้งเขต ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามที่กำหนด
“มาตรการทั้งหมดนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าไทยไม่มี ASF แน่ แต่ที่หมูป่วยตายก่อนหน้านี้ในเขตภาคเหนือ ผลการตรวจสอบว่าเป็นโรค โรคเพิร์ส (PRRS) ที่อาการคล้ายกัน ดังนั้นเพื่อตัดตอนการแพร่กระจาย กรมปศุสัตว์จึงต้องเร่งทำลายหมูในพื้นที่ก่อน ถือว่าเป็นการป้องกันที่ดี และเป็นผลให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 300 % มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา“
สำหรับวัคซีนโรคลัมปีสกินจะเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศวันนี้(10 มิ.ย.) และอยู่ระหว่างการนำเข้ามาเพิ่มอีก 3 แสนโดส คาดว่าจะเพียงพอสำหรับโคและกระบือทั่วประเทศ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยง ห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายสัตว์ หลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 วัน เนื่องจากวัคซีนที่ใช้เป็นเชื้อเป็นอาจทำให้สัตว์ป่วยได้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องแมลงต่างๆที่จะเป็นพาหะนำโรค
นายนิติพงศ์ หอมวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าแม้ว่าโรคเพิร์สไม่สามารถติดต่อหรือเป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่นได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงสบายใจได้ว่าเนื้อสุกรที่รับประทานนั้นปลอดภัย แต่ต้องเลือกซื้อจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ผ่านการปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิร้อนจัด เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจาก โรคในสุกร