จ่ายชัวร์! เช็ครายละเอียด 'สปสช.'เมื่อ 'เสียชีวิต'หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด-19'
อาการไม่พึงประสงค์ อาการแพ้วัคซีน เป็นความกังวลหลัก หลังจากที่ทุกคน 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' 'สปสช.' จึงจ่ายเงินช่วยเหลือหาก 'เสียชีวิต' หรือมีอาการไม่พึงประสงค์ แพ้วัคซีนหลังฉีดวัคซีนโควิด ทันที
หลังจากที่ประเทศไทยได้เริ่มคิกออฟ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ข้อมูล ณ 18.00 น. วันที่ 8 มิ.ย. 2564 สรุปยอด ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ ทั่วประเทศ (สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 มิ.ย.2564) ทั้งหมด 6,756,493 โดส โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งการ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ ก็เสมือนกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่อาจจะมีผู้ที่เกิด 'อาการแพ้วัคซีน' หรือ 'อาการไม่พึงประสงค์'หลังฉีดวัคซีน
ด้วย'อาการแพ้วัคซีน' หรือ'อาการไม่พึงประสงค์'ที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ‘สปสช.’ เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- 'สปสช.'จ่ายช่วยเหลือรายที่ 5 เสียชีวิตหลัง'ฉีดวัคซีนโควิด-19'
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ‘สปสช.’ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือรายที่ 5 เป็นหญิงชาว กทม. วัย 46 ปี เสียชีวิตหลังจากรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และได้สั่งการให้ ‘สปสช.’ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นให้เร็วที่สุดแล้ว ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้น ขอเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญทำการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นเพราะอะไร ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกับ'อาการไม่พึงประสงค์' หรือ 'อาการแพ้วัคซีน' อย่างไรบ้าง
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทันทีเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน สปสช. เขต 13 ลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามประสานงานในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของ ‘สปสช.’แล้ว เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กน้อยไปจนกระทั่งกรณีเสียชีวิต ‘สปสช.’จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ก่อน
คำว่าเบื้องต้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจาก'วัคซีนโควิด-19'หรือไม่ แต่เป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยเมื่อใดที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลกระทบก็จะพิจารณาจ่ายให้โดยเร็วที่สุด แม้ว่าต่อมาในภายหลังจะมีการพิสูจน์ว่าสาเหตุของผลกระทบไม่ได้เกิดจาก 'วัคซีนโควิด-19' ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
"ในกรณีของผู้เสียชีวิตรายนี้ ปกติใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีน สปสช.ซึ่งดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ประชาชนทุกสิทธิ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ไม่จำกัดว่าจะดูแลแต่สิทธิบัตรทองเพียงอย่างเดียว"นพ.จเด็จ กล่าว
- ระบุมีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 239 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ‘สปสช.’ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งเมื่อใดที่ไป‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’แล้วเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น ‘สปสช.’จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจาก 'วัคซีนโควิด-19’ ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
หลังจาก ‘สปสช.’เปิดให้ยื่นขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นมาประมาณ 3 สัปดาห์ ขณะนี้มีผู้ยื่นขอเข้ามา 344 ราย และคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตพื้นที่มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 239 ราย ไม่จ่าย 44 ราย รอข้อมูล 61 ราย โดยการช่วยเหลือขณะนี้เป็นเงิน 3,016,700 บาท
กรณีที่เสียชีวิตที่คณะอนุกรรมการฯมีมติจ่ายเงินช่วยเหลือขณะนี้ 4 ราย คือ ที่ จ.ปทุมธานี 1 ราย จ.แพร่ 1 ราย จ.สงขลา 1 ราย และ จ.ตาก 1 ราย ทั้งนี้ 'อาการไม่พึงประสงค์' ที่มีการจ่ายชดเชยส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาล โดยเกินกว่า 50% จะมีอาการชา มีบางส่วนที่มีอาการชานานเกิน 2 เดือน นอกนั้นก็มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียจนต้องนอนพักในโรงพยาบาล
- มีอาการไม่พึงประสงค์ติดต่อ 'สปสช.'13 เขตทั่วประเทศ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า การขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น 'สปสช.'ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีอาการแบบใดถึงจะยื่นขอได้ แต่หาก 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' แล้วมี 'อาการไม่พึงประสงค์' สามารถขอรับได้เลย ถ้าให้สะดวกคือไปสถานที่ที่ฉีด ปรึกษาแพทย์ ถ้าแพทย์คิดว่าเกี่ยวก็จะช่วยส่งเรื่องให้ โดยคณะอนุกรรมการที่พิจารณาค่าเยียวยาซึ่งมี 13 เขตทั่วประเทศจะเร่งดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีมติช่วยเหลือแล้ว จะจ่ายเงินให้แล้วเสร็จใน 5 วัน
"วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ใช้เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เราต้องมีกระบวนการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นถ้ามีอาการอย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์ ส่วนค่าเสียหาย เป็นกระบวนการสร้างความมั่นใจ โดยบางกรณีไม่จำเป็นต้องรอจนพิสูจน์ถูกผิดก็สามารถเยียวยาได้" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ต้องย้ำว่ากรณีที่สงสัยความเจ็บป่วยรวมถึงเสียชีวิตว่ามีสาเหตุจากวัคซีน สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย และเมื่อมีได้จ่ายช่วยเหลือไปแล้ว ในภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' เราก็จะไม่เรียกเงินคืนเนื่องจากถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เรื่องนี้เป็นกลไกทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่กลไกทางการแพทย์ที่พิสูจน์สาเหตุ จึงต้องมีความรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง โดยสามารถ สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีด 'วัคซีนโควิด-19' แบบไหน ที่ 'สปสช.' จ่าย 'เงินเยียวยา'
ขั้นตอนขอรับ 'เงินเยียวยา' ผลกระทบจาก 'วัคซีนโควิด' จาก 'สปสช.' ทำอย่างไร
เช็ค ‘อาการหลังฉีดวัคซีน’ ที่พบบ่อย พร้อมการดูแลเบื้องต้น
- 'สปสช.' ช่วยเหลือเสียชีวิต 5 ราย จ่ายรายละ4 แสนบาท
สำหรับผู้เสียชีวิตหลังได้รับ 'วัคซีนโควิด-19' ทั้ง 5ราย ที่ทาง 'สปสช.' ได้ทำการจ่ายช่วยเหลือ มีรายละเอียดดังนี้
รายแรก นายสมชาย ม่วงวัง อายุ 50 ปี รับวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานี คณะอนุกรรมการพิจารณามีความเห็นว่าได้รับความเสียหาย เป็นอาการที่เกิดหลังจากการรับวัคซีน มีอาการแน่นหน้าอกตลอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 5 วัน และผู้ได้รับผลกระทบเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลบิดา มารดา และเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว จึงลงมติเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท โดย 'สปสช.'ได้โอนเงินเข้าบัญชีให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้วคือนายสถาพร ม่วงวัง บุตรชาย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในส่วนของ สปสช.เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก
ต่อมารายที่ 2 นายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ อยู่ในพื้นที่สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ โดยผู้เสียชีวิต คือเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 ต่อมาคืนวันที่ 18 พ.ค. 2564 มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นำส่งตัว รพ.แพร่ และต่อมาได้เสียชีวิตลง
นางเนตรนภา เย็นจิตร ภรรยาผู้เสียชีวิต กล่าวว่า หลังการ ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ สามียังคงทำงานตามปกติทั้งในวันที่รับการฉีดและวันรุ่งขึ้น โดยในวันเกิดเหตุสามีได้เข้านอนประมาณ 3 ทุ่ม และเกิดอาการหายใจติดขัด จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องฯ ก่อนที่คณะอนุกรรมวินิจฉัยคำร้องฯระดับพื้นที่จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564
นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า จ.แพร่ ซึ่งเสียชีวิตภายหลัง'ฉีดวัคซีนโควิด-19'เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเต็มอัตราในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 400,000 บาท โดย 'สปสช.'จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็วภายใน 5 วัน
- เชียงใหม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น100 ราย 717,500 บาท
ด้าน ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ระดับเขตพื้นที่ เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตภายหลังจากได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ของนายอุดร เย็นจิตรนั้น ตามข้อมูลผู้เสียชีวิตได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด-19' เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 ต่อมาตอนกลางคืนวันที่ 18 พ.ค.2564 มีอาการหายใจผิดปกติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
“คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องหรือเป็นผลมาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ของ สปสช.อยู่แล้ว ที่มุ่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดหรือผลพิสูจน์ทางการแพทย์” ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการฯในครั้งนี้ ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายหลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' รวม 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท นอกจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร จำนวน 400,000 บาทแล้ว
ที่ผ่านมาเขต 1 เชียงใหม่ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 และ 28 พ.ค. และวันที่ 4 มิ.ย. รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไป 100 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท
- สปสช. เขต 12 มีมติจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น 4 แสนบาท
รายที่ 3 ผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้รับ 'วัคซีนโควิด-19' เข็มแรกในวันที่ 14 พ.ค. 2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พ.ค. 2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ค. 2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค. 2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พ.ค. 2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสปสช.เขต 12 สงขลา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากการ'ฉีดวัคซีนโควิด-19'ใน จ.สงขลา เป็นจำนวนเงิน 4 แสนบาท
สำหรับ ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในข้อที่ 3 ระบุว่า เงินช่วยเหลือเบื้องต้นคือเงินที่จ่ายให้กับผู้รับบริการ ทายาท หรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจาก 'วัคซีนโควิด-19' โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด
ทั้งนี้ จากกรณีนี้ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการ'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่จากเจตนารมณ์ของประกาศที่ตั้งใจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทายาทหรือผู้อุปการะ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติจ่ายเงินจำนวน 4 แสนบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว
อนึ่ง การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สปสช.เขต 12 สงขลา แล้วจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)
- 'ฉีดวัคซีนโควิด-19'มีอาการติดต่อสปสช.ด่วน
ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ได้พิจารณาคำร้องของญาติผู้ป่วยที่มีอาการโคม่าหลังจาก 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ควบคู่ไปกับผลการสอบสวนโรค ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ลงความเห็นว่าไม่ได้เป็นผลมาจากวัคซีน แต่ในแง่การช่วยเหลือทางสังคมในเบื้องต้น ทางอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจ่ายเงินจำนวน 7.5 หมื่นบาท
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า กรณีนี้ผู้ป่วยยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 2 รอบ แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในอาการโคม่า โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า สาเหตุเกิดจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คือโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
“ผู้ป่วยรายนี้สิทธิประกันสังคม ซึ่งทางประกันสังคมก็จะดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่อย่างไรก็ตามทางเราก็จะยังคงประสานงานกับทางญาติของผู้ป่วย ซึ่งถ้าเขาไม่พอใจก็สามารถยื่นอุทธรณ์มาได้” พญ.ลลิตยา กล่าว
ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง
รายที่ 4 เป็นผู้เสียชีวิต จ.ตาก
รายที่ 5 เป็นหญิงชาว กทม. วัย 46 ปี เสียชีวิตหลังจากรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา