'พลังงาน'คาดปลายมิ.ย.เริ่ม เซ็นสัญญาโครงการยื่นของบกองทุนอนุรักษ์

'พลังงาน'คาดปลายมิ.ย.เริ่ม  เซ็นสัญญาโครงการยื่นของบกองทุนอนุรักษ์

“กุลิศ” คาด ปลาย มิ.ย.นี้ เริ่มทยอยทำสัญญาผู้ได้รับคัดเลือกใช้งบกองทุนอนุรักษ์ปี 64 กลุ่ม 1-6 ขณะที่กลุ่ม 7 เศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 2,400 ล้านบาท ทำสัญญาปลาย ก.ค.นี้ พร้อมเร่ง ปตท.และ กฟผ.ลุยลงทุนนวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มีกรอบวงเงิน อยู่ที่ 6,500 ล้านบาทนั้น หลังจากปิดให้รับข้อเสนอในส่วนโครงการประเภททั่วไป ที่แบ่งออกเป็น กลุ่ม 1-6 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และโครงการของกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก กลุ่ม 7 ที่ปิดยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สนใจยื่นเสนอโครงการ จำวนกว่า 2,000 โครงการ คิดเป็นวงเงินอยู่ที่ 14,956 ล้านบาท สูงกว่ากรอบงบประมาณที่ตั้งไว้กว่า 1 เท่า

โดยในส่วนของโครงการของกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ที่มีกรอบวงเงินจัดสรร อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายให้จังหวัดละ 25 ล้านบาท ครอบคลุม 76 จังหวัดนั้น ทางจังหวดได้ยื่นเสนอโครงการมาคิดเป็นวงเงินถึง 4,549 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองโครงการและตรวจสอบความถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลที่บางจังหวัดเสนอมา พบว่า คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) อนุมัติวงเงินไว้เท่านี้ แต่ในระบบจริงวงเงินกลับมากกว่า ก็เป็นข้อมูลที่ยังไม่ตรงกัน จึงต้องตรวจสอบยอดวงเงินและข้อมูลต่างๆให้ชัดเจนก่อน

“คาดว่า ปลายเดือนนี้ กลุ่ม 1-6 จะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติโครงการและลงนามสัญญาได้ ส่วนกลุ่ม 7 กลางเดือน มิ.ย.น่าจะอนุมัติโครงการและลงนามสัญญาได้ในปลายเดือนก.ค.นี้”

สำหรับการจัดสรรเงินกองทุนฯปีงบประมาณ 2564 ตามแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน มีกรอบวงเงินอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท 2. กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท 3. กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท 4. กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท

5.กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท 6. กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2,200 ล้านบาท

และ 7.กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. จำนวน 195 ล้านบาท โดยกลุ่มงานที่ 7 จะเน้นสร้างงานสร้างราย กระจายครอบคลุม 76 จังหวัด หรือ จัดสรรงบ จังหวัดละ 25 ล้านบาท รองรับการยื่นเสนอโครงการฯ ผ่านคณะกรรมการบูรณาการท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน​ คัดกรองด่านแรก ก่อนส่งต่อคณะทำงานกลั่นกรองฯ พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

นายกุลิศ กล่าวถึงแผนการลงทุนภาคพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ได้กำชับให้ 2 รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆที่อยู่ในแผน

โดยในส่วนของ กฟผ. พบว่า เป็นการเตรียมพร้อมแผนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (​PDP 2018 Revision 1). PDP2018 Rev1 เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ การลงทุนโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ที่มี กฟผ. ถือหุ้น 40% และมีบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละ 30% เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยหากผ่านการเห็นชอบแล้ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการลงทุนขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่

 

ขณะที่ในส่วนของ ปตท. ก็เดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้บรรลุเป้าหมายอย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ หรือ มีกำลังผลิตรวม 16,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

รวมถึง ปตท.ได้ประกาศขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยายนต์ไฟฟ้า(EV) แบบครบวงจร หรือ (EV value chain) และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ อีกทั้ง ปตท.และกฟผ.ยังได้ร่วมมือกับเข้าไปลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี ในสัดส่วน 50:50 และอยู่ระหว่างพูดคุยกัน ซึ่งยังจะมีความร่วมมือกันเกิดขึ้นอีกหลายโครงการตามมาด้วย