หุ้นเดินเรือแล่นฉิว “พอแล้ว” หรือ “ไปต่อ” ?
“หุ้นเดินเรือ” เป็นอีกกลุ่มที่โชว์ฟอร์มได้ดีในปีนี้ ราคาแล่นฉิวติดสปีดกันคึกคัก ล้อไปกับดัชนีค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีก่อน ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย
นำโดยประเทศจีน แม้จะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ เมื่อปลายปี 2562 ก่อนที่จะระบาดไปทั้งประเทศและแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ด้วยการที่รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้ยาแรง ยอมปิดประเทศห้ามคนใน-คนนอก เข้าออกเด็ดขาด
ควบคู่ไปกับการเดินหน้าพัฒนาวัคซีน และเร่งฉีดให้กับประชาชน ทำให้จีนสามารถควบคุมโรคระบาดได้เร็ว เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดการผลิตในช่วงที่มีการระบาดหนักๆ ทยอยกลับมาเปิดกิจการ เริ่มมีการนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุ อุปกรณ์ สินค้าต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ภาคการขนส่งเริ่มคึกคัก
ขณะที่ในฝั่งของสหรัฐฯ หลังได้ผู้นำใหม่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ กลายเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อภาคการขนส่งและการค้าโลก เพราะแน่นอนว่าต้องมีการนำเข้าสินค้าจำเป็นเพื่อนำไปใช้ลงทุนก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์การขนส่งสินค้าทางเรือที่เร่งตัวขึ้น
สวนทางกับอุปทานเรือขนส่งที่มีอยู่อย่างจำกัด สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมเรือขนส่งที่ซบเซามานานหลายปีจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ทำให้การค้าทั้งโลกแทบหยุดชะงัก เรือขนส่งสินค้าจำนวนมากต้องถูกปลดระวาง แทบไม่มีการสั่งต่อเรือใหม่ ทำให้ซัพพลายค่อยๆ ลดลง
แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ดีมานด์การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ซัพพลายเรือขนส่งยังจำกัด แถมยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นมาอีก จึงทำให้บริษัทเดินเรือเริ่มมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ตลาดขณะนี้กลับมาเป็นของผู้ให้บริการอีกครั้ง
สำหรับผู้ประกอบการเดินเรือในตลาดหุ้นไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ “กลุ่มเดินเรือเทกอง” นิยมใช้ขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น ถ่านหิน เหล็ก ซีเมนต์ สินค้าทางการเกษตร แร่ธาตุต่างๆ อย่างเช่น บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL ที่สัดส่วนรายได้ทั้งหมดมาจากธุรกิจเรือเทกอง โดย ณ สิ้นปี 2563 มีกองเรือ 36 ลำ แบ่งเป็นเรือขนาด Ultramax 8 ลำ, Supramax 9 ลำ และHandysize 19 ลำ มีขนาดระวางบรรทุกรวม 1,585,805 เดทเวทตัน หรือเฉลี่ย 44,050 เดทเวทตัน
และ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเรือเทกองเกือบ 40% ณ สิ้นปี 2563 มีกองเรืองทั้งหมด 23 ลำ แบ่งเป็นเรือ Supramax 22 ลำ และ Ultramax 1 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ย 55,686 เดทเวทตัน และมีอายุเฉลี่ย 13.06 ปี
สำหรับกลุ่มเรือเทกองราคาหุ้นมักจะอิงไปกับดัชนี BSI (Supramax Index) ซึ่งเป็นเรือขนาดหลักที่นิยมใช้ในกลุ่มนี้ โดยปีนี้ดัชนี BSI ยังเดินหน้าทำนิวไฮต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ปิดที่ 2,552 จุด ปีนี้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 145.62%
ส่วนอีกกลุ่มเป็น “เรือขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์” มีบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL เป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย และน่าจะเป็นบริษัทที่ผลประกอบการเติบโตร้องแรงที่สุดในกลุ่มก็ว่าได้ โดยปี 2563 พลิกกลับมามีกำไรถึง 1,744.79 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ที่ขาดทุน 491.75 ล้านบาท
ทั้งๆ ที่ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลง 6% จากปี 2562 แต่ได้รับปัจจัยหนุนจากค่าระวางเรือที่พุ่งกระฉูดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นมา หลังทั่วโลกเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนปีนี้ยังออกสตาร์ทได้สวย ไตรมาส 1 ปี 2564 ตุนกำไรไปแล้ว 2,941.58 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนทั้งปี จึงสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้น
สำหรับกลุ่มเรือขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์จะอ้างอิงกับดัชนี CCFI (China Containerized Freight Index) และ SCFI (Shanghai Containerized Freight Index) เป็นหลัก อย่างดัชนี SCFI เดินหน้าทำนิวไฮเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ปิดที่ 3,703.93 จุด หรือ ขึ้นมากว่า 30% ในปีนี้ ส่วนดัชนี BDI (Baltic Dry Index) ที่นักลงทุนรู้จักกันดีจะเป็นการสะท้อนภาพรวมของทั้งอุตสหกรรม ไม่ได้เจาะจงประเภทการให้บริการ
ทั้งนี้ ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาอย่างร้อนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ดูจะสะท้อนข่าวดีไปมากแล้ว จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ปัจจุบันปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเริ่มคลี่คลาย ขณะที่ในระยะยาวยังมีความหวังเชิงบวกว่าการเดินหน้าฉีดวัคซีนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนุนต่อการขนส่งทางเรือ