‘เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค’ ลุยธุรกิจใหม่ ชูสกัดแปรรูปพืชสมุนไพร-กัญชา-กัญชง ขึ้นแท่น “สตาร์ดวงใหม่” พร้อมตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ 3-5 ปี แตะ 15% ด้านปีนี้ธุรกิจเดิมยอดขายโตดัน “รายได้-กำไรสุทธิ” ทำสถิตินิวไฮ !
จากจุดเริ่มต้นใน 'ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการเกษตร' แต่ปัจจุบัน บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM มุ่งสู่การ 'แตกไลน์ธุรกิจใหม่' ในครั้งนี้... ถือเป็นตัวสร้างมูลเพิ่มให้กับบริษัทในอนาคตได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้นไป และยังช่วยลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว นี่คือกลยุทธ์ที่ถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงได้อย่างลงตัว ซึ่งมีการผลิต คิดค้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
'อุกฤษณ์ วนโกสุม' รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า สำหรับแผนธุรกิจ 3-5 ปี (2564-2568) บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตทั้ง 'ธุรกิจเดิม' (Original Business) และ 'ธุรกิจใหม่' (New Business) โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้ธุรกิจใหม่จะเป็น 15% จากปัจจุบันธุรกิจเดิมมีสัดส่วนรายได้ 100% ซึ่งไตรมาส 3 ปี 2564 จะเริ่มเห็นรายได้ธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมแล้ว
สะท้อนผ่านคณะกรรมการของบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติจัดตั้ง 2 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดย KWM ถือหุ้น 51% และพันธมิตรถือหุ้น 49% เพื่อดำเนินธุรกิจการสกัดแปรรูปวัตถุดิบที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสกินแคร์ และอนุมัติจัดตั้ง บริษัท เคดับบลิวเอ็ม แคนนาบิเทค จำกัด ด้วยทุน จดทะเบียน 20 ล้านบาท โดย KWM เข้าถือหุ้น 99.70% เพื่อดำเนินให้บริการสกัดกัญชง-กัญชา
สอดรับแผนความพร้อมในด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจโดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 70 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 210 ล้านบาท เป็น 280 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ (KWM-W1) ที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมโดยไม่คิดมูลค่าในอัตราการจัดสรรเท่ากับ 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ อายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ออก และมีอัตราการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญของบริษัท 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 1.50 บาทต่อหุ้น โดยจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 วันที่ 29 มิ.ย.นี้ เพื่อขออนุมัติผู้ถือหุ้นพิจารณาวาระการเพิ่มทุน
เขาแจกแจงแผนธุรกิจว่า คาดว่าไตรมาส 3 ปี 2564 มีโอกาสเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทร่วมทุนพันธมิตรในธุรกิจการสกัดแปรรูปพืชสมุนไพร อย่าง ขมิ้นชัน , มะรุม , กระท่อม โดยเบื้องต้นจะพัฒนาโปรดักท์ออกมาจำหน่ายในตลาดอย่าง แชมพูสระผม , ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ทาผิว ซึ่งตอนนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ขณะที่ ธุรกิจให้บริการเครื่องสกัดกัญชง-กัญชา บริษัทจับมือ บมจ.โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) (JSP Pharma) ในโครงการสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง เพื่อนำไปสู่การผลิตยาและยาสมุนไพร โดยคาดว่าเครื่องสกัดที่บริษัทผลิตขึ้นจะสามารถติดตั้งในโรงงานของ JSP Pharma ที่จังหวัดลำพูนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564
คาดว่าราคาเครื่องสกัดไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยบริษัทให้เช่าระยะเวลาไม่เกิน 3-5 ปี คาดผลตอบแทน (รีเทิร์น) ประมาณ 20% ต่อปี ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เข้ามาสร้าง 'รายได้ประจำ' (Recurring Income) สม่ำเสมอต่อเนื่อง คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวไตรมาส 4 ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าสนใจเครื่องสกัดของ KWM ไม่ต่ำกว่า 10 ราย
อย่างไรก็ตาม มองทิศทางธุรกิจเครื่องสกัดกัญชง-กัญชา เป็นสตาร์ดวงใหม่ของบริษัท เนื่องจากตลาดยังใหม่ ดังนั้น ยังสามารถเติบโตได้อีกมหาศาล ซึ่งบริษัทก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่นำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องสกัดจากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ส่วนความคืบหน้าโรงงานสกัดกัญชงและกัญชาในการต่อยอดพัฒนาเพื่อวิจัยในการผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์ สนใจยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานกับ อย. โดยเป็นการดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพหลายราย อาทิ ความร่วมมือกับ บริษัท เอ็น.อี.เฮมพ์ จำกัด (N.E.Hemp) เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางระบบเพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบคุณภาพที่มีสาร THC และ CBD ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน อย.ที่กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย
ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการเกษตร ในปี 2564 ถือเป็น 'ปีทอง' หลังความต้องการ (ดีมานด์) มาก จากยอดขายสินค้าทั้ง 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย สินค้าการเกษตรที่ผลิตให้กับ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แบรนด์ตราช้าง สัดส่วนรายได้ 90% สินค้าภายใต้แบรนด์ Pegasus ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทเองที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร เช่น ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียง สัดส่วนรายได้ 10%
โดยแนวโน้มปรับตัวขึ้น ส่งผลบริษัทขยายกำลังผลิตใหม่ (เพิ่มไลน์การผลิต) เพื่อเพิ่มกำลังผลิตส่วนอุปกรณ์ประเภทใบผาลพร้อมติดตั้งเครื่องพ่นสี รองรับความต้องการสินค้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต โดยไลน์การผลิตใหม่นี้จะนำมาตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานแห่งที่ 2 ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับการลดหย่อนสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มจำนวนถึงปี 2569 เบื้องต้นคาดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี2564 กำลังผลิตสูงสุดแตะ 'แสนใบต่อเดือน'
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 คาดว่า 'รายได้-กำไรสุทธิ' เติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 355.06 ล้านบาท เนื่องจากการสำรวจความต้องการสินค้าการเกษตรของ 2 กลุ่มหลัก โดยเห็นสัญญาณถึงการเร่งตัวของการเติบโตอย่างมาก โดยปีนี้ดีมานด์ช่วงที่มียอดขายสูงสุดแตะ 6-8 หมื่นใบต่อเดือน เทียบกับช่วงปีก่อน 3-4 หมื่นใบต่อเดือน
สะท้อนตัวเลขจากอัตราเติบโตโดดเด่นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล หรือเข้าสู่ไฮซีซั่นธุรกิจที่ปกติจะเกิดขึ้นไตรมาสแรกของทุกปี ทำให้ยอดขายเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรของบริษัทเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากการเติบโตของภาคการเกษตรทั้งการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงจูใจให้เกษตรกรขยายการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ทว่าปีนี้ความต้องการยังต่อเนื่องมาในไตรมาส 2 อีกด้วย
'ปีนี้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการเกษตรมียอดขายเติบโตร้อนแรงมาก เปรียบเหมือนเราผลิตสินค้าออกมาเท่าไหร่ก็ถมลงในแม่น้ำถมเท่าไหร่ก็ไม่พอ ดังนั้น ปีนี้คงพูดได้ว่าเป็นปีทองของสินค้าการเกษตร'
ท้ายสุด 'อุกฤษณ์' บอกไว้ว่า การเพิ่มทุนของ KWM ครั้งนี้ถือเป็นการวางแผนทางการเงินที่รองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจกัญชง-กัญชาที่เป็นโอกาสธุรกิจและตลาดใหม่ที่มองมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว