'บับเบิล แอนด์ ซีล' คุมโรงงาน ชู '2 สะอาด' สกัดระบาดโควิด
ศบค.งัดมาตรการ "บับเบิล แอนด์ ซีล" คุมเข้มมาตรการความปลอดภัย โรงงาน พนักงาน ลดเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 หวังเดินเครื่องกระบวนการผลิตสินค้าไม่สะดุด
แม้สถานประกอบการหลายแห่งจะมีมาตรป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นการระบาดของโรคได้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพชีวิตพนักงาน และเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ได้ยก Bubble and Seal ขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้สถานประกอบการเหล่านี้เปิดดำเนินการได้เร็วที่สุด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เปิดเผยว่า การระบาดติดเชื้อในโรงงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสั่งปิดแคมป์ ปิดตลาด ปิดโรงงานนั้น ไม่ทำให้การแพร่ระบาดหมดไป แต่กลับทำให้คนไม่มีงานทำและส่งผลให้กลุ่มเสี่ยงกระจายตัวกลับภูมิลำเนา เป็นความเสี่ยงที่พวกเขาจะนำพาโรคกระจายไปยังพื้นที่อื่น
ดังนั้น การสั่งปิดทั้งหมดจึงไม่ใช่คำตอบ ในขณะที่ประเทศต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรรม การหาแนวทางให้โรงงานเปิดดำเนินการโดยไม่หยุดการผลิต นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้แรงงานเคลื่อนย้ายแล้ว ยังช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้
มาตรการ Bubble and Seal เป็นมาตรการที่ ศบค. หยิบยกขึ้นมาพูดถึงหลายครั้ง หากโรงงานมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน เมื่อพบการติดเชื้อในโรงงานก็สามารถกำหนดกรอบ เพื่อให้โรงงานดำเนินการได้ภายใต้การควบคุมโรค เพราะคนติดเชื้อวัยแรงงาน มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือใม่มีอาการเลย ดังนั้น การใช้วิธีให้แรงงานทำงานและพักอาศัยอยู่ภายในโรงงานโดยไม่หยุดการผลิต ก็จะสอดคล้องกันทั้งในเชิงการป้องกันโรคและรายได้ของแรงงานหรือเศรษฐกิจโดยรวม
โรงงานแปรรูปไก่ในจังหวัดสระบุรีแม้จะวางระบบป้องกันโรคอย่างดีแต่ก็ยังเกิดปัญหาติดเชื้อโควิด ในขณะที่โรงแปรรูปในจังหวัดปทุมธานีก็มีการติดเชื้อเช่นกัน ดังนั้นการจัดการคนหมู่มากในโรงงานใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกับโรคระบาดที่จำเป็นต้องอาศัยการเว้นระยะห่าง และความมีวินัยส่วนบุคคลค่อนข้างสูง ยิ่งยากทวีคูณ การจัดการภายในโรงงานด้วยมาตรการ Bubble and Seal อย่างรัดกุม จึงมีความหมายอย่างยิ่ง และจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับโรงงานทุกแห่ง ภายใต้การพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ
โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.สระบุรี เป็นตัวอย่างของโรงงานที่นำมาตรการ Bubble and Seal ของรัฐมาต่อยอด และลงรายละเอียดแนวทางปฏิบัติตาม "แนวทาง 2 สะอาด" หรือ “โรงงานสะอาด-คนสะอาด” ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการโรงงานที่น่าสนใจ โดยจะแยกกระบวนการบริหารจัดการออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
1.โรงงานสะอาด ดำเนินการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข และควบคุมการดำเนินงานโดยกรมอนามัยในพื้นที่จังหวัด รวมถึง Swab พื้นผิวสัมผัสที่เป็นจุดสัมผัสร่วมทุกจุดในโรงงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินการคงค้างของเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่สาธารณสุขหรือกรมอนามัยกำหนด ซึ่งต้องมีผลการตรวจ Swab พื้นผิวสัมผัสที่เป็นจุดสัมผัสร่วมทุกจุดในโรงงานและสิ่งแวดล้อมว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ในทุกจุดเสี่ยง
2.คนงานสะอาด เตรียมพนักงานและคนงานใหม่ทดแทนพนักงานและคนงานเดิมที่ถูกกักตัว กรณีนี้อาจเหมาะกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีโรงงานหลายแห่งและสามารถจัดเตรียมพนักงานและคนงานจากอีกสาขาหนึ่งเข้าทำงานทดแทนพนักงานเดิมได้ ทั้งนี้ ต้องกำหนดจำนวนตามความจำเป็นของงานที่เป็น Core Process ซึ่งยังต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกพนักงานและคนงานที่ต้องปลอดการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากต้องย้ายพนักงานและคนงานทั้งหมดเข้าหอพักที่บริษัทจัดให้และห้ามออกไปภายนอกโดยเด็ดขาด หรือจะเรียกว่าเป็น Aseptic Bubble and seal ก็ได้ โดยต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพนักงานและคนงานทุกคนด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเข้าหอพัก ซึ่งผลการตรวจต้องเป็นลบ ทุกคน และเมื่อครบ 7 วันแล้ว ให้ตรวจโควิดซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก
สำหรับความเข้มข้นของการปฏิบัติต้วของพนักงานยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยระหว่างเข้ามาปฏิบัติงานในโรงงานให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T จัดทีมตรวจสอบการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พนักงานทุกคนต้องตรวจวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอท ทุกวันก่อนเข้าปฏิบัติงาน หากมีอุณหภูมิเกิน 37.30 C หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เข้าสู่ระบบการกักตัวทันที แนวปฏิบัติดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึง การรับพนักงานชุดเดิมเข้าปฏิบัติงาน หลังพ้นระยะเวลากักตัว 14 วันด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางปฏิบัติอีกมาก อาทิ กรณีหอพักอยู่ภายนอกรั้วโรงงาน ต้องเสริมจำนวนรถให้เพียงพอต่อการรับส่ง และจัดที่นั่งโดยเว้นระยะห่างตามหลักการของ Social distancing รวมถึงการจัดบริการอาหาร 3 มื้อให้พนักงานต้องจัดเป็นชุดสำหรับรับประทานคนเดียว และห้ามใช้อุปกรณ์ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารมาตรการป้องโควิดในโรงงานให้พนักงานทราบอย่างต่อเนื่อง และทวนสอบความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ แม้มีการรับวัคซีนแล้วพนักงานยังคงค้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในที่พักคนงานของซีพีเอฟ ณ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ อ.ปักธงชัย และ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ว่า ที่พักทั้ง 2 แห่ง ไม่มีการติดเชื้อภายในโรงงานทั้งที่มีคนงานกว่า 8,000 คน ถือว่าเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานสูงในการดูแลคนงานทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าว
พร้อมยกให้เป็นต้นแบบในการควบคุมดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมาตรการ “โรงงานสะอาด-คนสะอาด” นี้เช่นกัน
“โรงงานสะอาด คนสะอาด” จึงเป็นต้นแบบการบริหารจัดการป้องกันโควิดภายในโรงงาน ทั้งก่อนและหลังการพบผู้ติดเชื้อได้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการบริหารจัดการแรงงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกวัน ส่งผลให้ไม่สูญเสียรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานรายวันช่วยลดปัญหาแรงงานและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อมๆกับความปลอดภัยของแรงงานและชุมชน
สำหรับมาตรการ Bubble and Seal เป็นมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก ในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ก่อนหน้านี้ได้ประกาศใช้ ที่ จ.สมุทรสาคร