ผอ.ป.ป.ท.เขต 1 รับคำสั่ง เลขาฯ ป.ป.ท. ลงพื้นที่ ราชาเทวะ เก็บข้อมูลเสาไฟฟ้า ประติมากรรม
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาฯ ป.ป.ท.) ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 หรือ ป.ป.ท.เขต 1 ลงพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชาเทวะ เพื่อตรวจสอบโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่มีการนำเสนอของสื่อมวลชน
โดยนายธนวัตร สนิทศักดิ์ดี ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 1 เปิดเผยว่า หลังได้รับคำสั่งจากเลขาฯ ป.ป.ท. ให้ลงไปตรวจสอบแล้ว ก็ได้ประสาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานจังหวัด เข้าบูรณาการงานร่วมกันในการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการของ อบต.ราชาเทวะ
ประเด็น คือการขอเอกสารโครงการทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2561 ที่ได้รับมาแล้วบางส่วน ซึ่งเบื้องต้นทำให้ทราบว่า อบต.ราชาเทวะ มีงบประมาณประจำ 400 ล้านบาท/ปี หักรายจ่ายประจำ 200 ล้านบาท/ปี ที่เหลือถูกนำไปทำโครงการเสาไฟฟ้าต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 63 – 64 เมื่อรวมกับคำชี้แจงจากฝ่ายบริหาร ระบุ ประสิทธิภาพของโซล่าร์เซลล์ในการกักเก็บกระแสไฟฟ้าได้นาน 48 ชั่วโมง เกิดเป็นความเสี่ยงที่เสาไฟ จะไม่สามารถส่องสว่าง หากในพื้นที่ไม่มีแสงแดดเป็นเวลา 2 วัน
ประเด็นต่อมา พบเสาไฟที่ถูกติดตั้งคู่กับเสาไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำให้เกิดข้อสงสัยในความคุ้มค่า ที่ยังไม่สามารถชี้ชัด เพราะต้องรอเอกสารจัดซื้อ จัดจ้าง จากอบต.ราชาเทวะ ที่จะระบุถึงรายละเอียดของแบบเสาไฟฟ้า ประสิทธิภาพของแผงโซล่าร์เซลล์ ความส่องสว่างของหลอดไฟมาเปรียบเทียบกับเสาไฟ ของ กฟภ.
ผอ.ป.ป.ท.เขต 1 กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท. ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ขณะที่ทาง อบต.ราชาเทวะ ดูจะมีความมั่นใจ การดำเนินโครงการว่าเป็นไปตามอำนาจ ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายทุกประการ และสามารถชี้แจงได้ในทุกประเด็นเหมือนกับที่เคยปรากฎในข่าว เช่น การติดตั้งเสาไฟในพงหญ้า การไม่ส่งแบบให้แขวงการทาง เพราะ งบประมาณ เป็นของ อบต.ราชาเทวะ
แม้ อบต.ราชาเทวะ จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบที่ร่วมกันลงพื้นที่ แต่ผ่านมาแล้ว 4 วัน เราก็ยังให้โอกาสในการรวบรวมเอกสารทั้งหมด เพื่อนำไปประมวลผลสรุปก่อนเสนอเป็นข้อมูลให้กับ เลขาฯ ป.ป.ท.ต่อไป
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ท. ให้ข้อมูลว่า การพิจารณาโครงการในภาครัฐมีหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 1.ความมีเหตุผลและความจำเป็นของโครงการ 2. ดำเนินงานถูกต้องตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และ 3. ใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งโครงการติดตั้งเสาไฟ ประติมากรรมของ อบต.ราชาเทวะ เคยถูก ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบ เมื่อ 4 - 5 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้า