หนังเล่าโลก: Sweet & Sour 'ความรักของคนวัยทำงาน'
ชมภาพยนตร์รักสามเส้าจากเกาหลี ที่สะท้อนภาพชีวิตการทำงานเคร่งเครียดส่งผลต่อชีวิตรัก แต่เพราะคนหรืองานที่ทำให้รักร้าว
ต้องขอสารภาพว่าผู้เขียนไม่ใช่คอหนังเกาหลี หนังเล่าโลกจึงเขียนถึงภาพยนตร์จากประเทศนี้น้อยมากทั้งๆ ที่คนไทยนิยม แต่สัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Sweet & Sour: รักหวานอมเปรี้ยว ที่กำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ชนิดที่หนังจบแต่คนดูยังไม่จบ จึงนับว่าเป็นโอกาสดีที่ควรนำมาเล่าสู่กันฟังแบบไม่สปอยล์
Sweet & Sour ผลงานของผู้กำกับ Kae-Byeok Lee บอกเล่าเรื่องราวของ “อีจางฮยอก” หนุ่มท้วมหัวใจใสซื่อที่เพิ่งได้งานทำแต่ดันมาเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบเสียก่อน ต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ที่นี่เขาได้ “ดาอึน” พยาบาลสาวหน้าใสมาคอยดูแลเป็นพิเศษ เล่นเอาอีจางฮยอก ไม่อยากหายป่วยอยากอยู่โรงพยาบาลตลอดไป แต่ความจริงก็ต้องเป็นความจริง ชายหนุ่มต้องออกไปใช้ชีวิตนอกโรงพยาบาล ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวพร้อมๆ กับสานความสัมพันธ์กับสาวเจ้า
คำโปรยของหนังบนเว็บไซต์เน็ตฟลิกซ์ ระบุ “ท่ามกลางโอกาสและอุปสรรคต่างๆ นานา คู่รักพยายามก้าวผ่านประสบการณ์ทั้งร้ายดี และประคับประคองความสัมพันธ์ระยะไกลให้อยู่รอดในโลกแห่งความเป็นจริง” แน่นอนว่าเรื่องราวต่อจากนั้น เป็นเรื่องราวรักสามเส้าที่คำว่า “รักแท้แพ้ใกล้ชิด” ยังคงใช้ได้เสมอ แต่นอกจากความรัก สมหวัง ผิดหวังของคนหนุ่มสาวแล้ว สิ่งที่เห็นจากภาพยนตร์ยังรวมถึงสภาพความบีบคั้นของประชากรวัยทำงานในเกาหลีใต้ เมื่อจางฮยอกและดาอึนอยู่ในอินชอนแต่ฝ่ายชายได้งานทำที่กรุงโซล และต้องขับรถไปกลับทุกวัน ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตพบว่า ระยะทางห่างกัน 27 กิโลเมตร แต่สอบถามจากเพื่อนที่เคยเรียนอยู่เกาหลีใต้ได้ความว่า ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในอินชอนส่วนไหนเพราะเมืองใหญ่มาก สรุปว่า ระยะทางไกลพอสมควรผนวกกับสภาพการจราจรติดหนึบในชั่วโมงเร่งด่วนแบบที่เราเห็นใน กทม. ก็เกินจะทานทนไหว ส่วนดาอึนก็ต้องเข้าเวรกะดึกบ่อยครั้ง การที่คู่รักจะพบกันในสภาพร่างกายสดชื่นจึงหาได้ยากเต็มที พบกันทีก็มีแต่ความระหองระแหงใส่กัน
การทำงานของจางฮยอกในฐานะวิศวกรน้องใหม่ จำเป็นต้องแสดงฝีมือเต็มที่ ยิ่งมี “โบยอง” วิศวกรหญิงน้องใหม่ที่เข้ามาทำงานพร้อมกันทะเยอทะยานอยากแสดงฝีมือให้ผู้บริหารเห็น จางฮยอกยิ่งต้องทุ่มเท ความลำบากตรากตรำทำงานของจางฮยอก ดาอึน และโบยอง สะท้อนถึงหนุ่มสาววัยทำงานของเกาหลีใต้ ที่นับวันความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นทุกที พวกเขาทั้งสามคนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาววัย 20-30 ปีเศษ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่เลือกประธานาธิบดีมุน แจอินเข้ามาเมื่อสี่ปีก่อน
มองอีกมุมหนึ่งทั้งจางฮยอก ดาอึน และโบยอง ยังดีกว่าคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้อีกหลายคนที่ดิ้นรนหางาน คนที่มีงานทำแล้วหลายคนต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่มีปัญญาหาซื้อบ้าน (จางฮยอกได้ซื้อบ้านอยู่ในกรุงโซล) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้มีสัดส่วนประชากรอายุ 25-34 ปี จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงสุดในองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) แต่นับถึงเดือน พ.ค. กลุ่มประชากรอายุ 15-29 ปี ตกงานไปแล้วเกือบๆ 25% สูงมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงานกลุ่มอายุอื่นๆ ที่ตกงาน 13.5%
การทำงานหนักของตัวละครทั้ง 3 ที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ทำให้นึกถึงชะตากรรมของคนงานอีกกลุ่มที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่กี่วันก่อนสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งสินค้าราว 2,100 คนจากสมาชิกทั้งหมด 6,500 คนผละงานประท้วงเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นหลังจากปีก่อนมีเพื่อนร่วมอาชีพเสียชีวิตจากการทำงานเกินเวลา 16 คน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
Sweet & Sour ไม่ใช่หนังรักเกาหลีใต้เรื่องแรกที่ผู้เขียนดูแล้วเห็นภาพความบีบคั้นของคนทำงานอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าแม้ดูมาไม่กี่เรื่องก็จะเห็นภาพแบบนี้ทุกเรื่อง เป็นไปได้ว่าการทำงานหนักคือวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นไปแล้ว แต่ความสมดุลของชีวิตและงานคือสิ่งที่สะท้อนคุณภาพชีวิตประชากร เรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ระดับนโยบาย การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้า พรรคประชาธิปไตยของประธานาธิบดีมุน แจอินต้องคิดให้หนัก ไม่เช่นนั้นแล้วคนหนุ่มสาวที่เป็นฐานเสียงสำคัญอาจแห่กันไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน เหมือนกับการเลือกตั้งซ่อมนายกเทศมนตรีกรุงโซลเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็ได้