พาณิชย์เปิดเวทีระดมความเห็นก่อนฟันธงควรทำเอฟทีเอไทย-ฮ่องกงหรือไม่
เวทีสัมมนาเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง เผย ไทยจะไทยประโยชน์ด้านบริการเท่านั้น แนะยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่จีน และหนุนมีเวทีหารือด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนสองฝ่าย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง "ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ(FTA) ไทย-ฮ่องกง" ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่องการจัดทำเอฟทีเอ ไทย – ฮ่องกง ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจระหว่างไทย – ฮ่องกง ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นหากไทยจะจัดทำ เอฟทีเอ ฉบับใหม่กับฮ่องกง ไทยจะได้ประโยชน์หรือมีผลกระทบอะไรเพิ่มเติมจาก เอฟทีเออาเซียน – ฮ่องกง หรือไม่ และหากในอนาคตฮ่องกงเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก RCEP อยู่แล้วเอฟทีเอ ฉบับใหม่นี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่
ผลการสัมมนา พบว่า ด้านการเปิดตลาดสินค้า ไทยจะไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม เนื่องจากฮ่องกงได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าทุกรายการให้ไทยแล้วภายใต้เอฟทีเอ อาเซียน – ฮ่องกง แต่ในส่วนของภาคบริการ จะสามารถทำให้ฮ่องกงสนใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในไทย อาทิ สาขาอสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน ประกันภัย และโลจิสติกส์
สำหรับผู้ประกอบการ เห็นว่า ระหว่างนี้ไทยควรเร่งใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ อาเซียน - ฮ่องกง ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจากการที่ฮ่องกงและจีนมียุทธศาสตร์ความร่วมมืออ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area – GAB) ซึ่งจีนกำหนดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไทยควรเร่งยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฮ่องกงให้เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงินและประกันภัย เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ เพื่อใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่จีน
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีกลไกการหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกง อาทิ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างภาครัฐ และสภาธุรกิจไทย-ฮ่องกงระหว่างภาคเอกชน สำหรับเป็นเวทีหารือส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่ฮ่องกงในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้ อาหารที่ทำจากพืช สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและการทำงานอยู่บ้าน ตลอดจนสินค้าในภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง สุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์
ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย ในปี 2563 การค้าของไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13,298 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออกไปฮ่องกงมูลค่า 11,292 ล้านดอลลาร์ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,006 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และข้าว สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ