เจาะบทเรียน ‘ร้านอาหาร’ เครือ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ เมื่อยอดขายเคย 0 บาท
เปิดเคสธุรกิจ "ร้านอาหาร" เครือ "ฟู้ดแพชชั่น" ที่โดนโควิดพ่นพิษ จนยอดขายตกฮวบบางเดือนได้ 0 บาท! การจะสู้ต่อในวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ ควรทำยังไงต่อ? "บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ จะมาเล่าให้ฟัง
ในวันที่โรคระบาด "โควิด-19" ฉุดเศรษฐกิจให้หยุดชะงักไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ เช่นกัน เห็นได้ชัดจากภาคธุรกิจต่างๆ ล้มระเนระนาดไม่เป็นท่า หลายแห่งต้องปลดพนักงานออก ด้านธุรกิจ "ร้านอาหาร" ก็เผชิญกับยอดขายที่ลดวูบ ต่างก็เร่งปรับตัวกันยกใหญ่
หนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่เจอมรสุมโควิดซัดเข้าให้เต็มๆ ก็คือ ธุรกิจในเครือ "ฟู้ดแพชชั่น" ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง "บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์" ผู้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
เธอเคยออกมาแชร์เรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียว่า ร้านอาหารบางแห่งในเครือ เคยได้ยอดขายน้อยที่สุดคือ 0 บาท!
เจอวิกฤติหนักขนาดนี้ เธอลุกขึ้นมาสู้ต่อในยุคโควิดนี้อย่างไร? ชวนมาเปิดบทเรียนของเธอกัน
- ทำความรู้จัก "ร้านอาหาร" เครือ "ฟู้ดแพชชั่น"
เครือ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ดำเนินธุรกิจร้านอาหารบาร์หลายแบรนด์ อย่างเช่น บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โภชา, เรดซัน และหมูทอดกอดคอ
ที่ผ่านมาโควิด-19 ระบาด ทั้ง 3 ระลอก ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนถึงขั้นมีบางแบรนด์ บางสาขา ยอดขายลดฮวบเหลือ 0 บาท ก็เคยมีมาแล้ว
- เมื่อเจอวิกฤติหนัก หัวเรือใหญ่สู้ต่ออย่างไร?
บุณย์ญานุช เปิดเผยว่า เนื่องจากธุรกิจในเครือฟู้ดแพชชั่น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหาร เหมือนแมว 9 ชีวิต ที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
จนถึงตอนนี้เธอยอมรับว่าหลังจากที่รัฐปลดล็อกให้นั่งทานในร้านได้บ้าง ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าทุกอย่างเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น คนเริ่มโหยหาการรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็ช่วยเพิ่มยอดให้แต่ละสาขาดีขึ้น
ในส่วนของโมเดลธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเดลิเวอรี่ หรือการจัดโปรโมชั่น ก็ทำต่อเนื่องไป
บาร์บีคิวพลาซ่า
- แนะโมเดลปั๊มหัวใจธุรกิจ ให้ฟื้นในยุคโควิด
ที่น่าสนใจคือ เธอได้ยกตัวอย่างโมเดลที่อาจช่วยปั๊มหัวใจธุรกิจ ให้ฟื้นในยุคโควิด มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ
1. โมเดล "ชุดกักตัว 14 วัน"
โดยขายชุดอาหารพร้อมกระทะ ให้ใช้ไปเลย 14 วัน พร้อมส่งอาหารตามโปรโมชั่นแบบเดลิเวอรี่ เอาใจคนกักตัวไปไหนไม่ได้ แต่อยากกินปิ้งย่าง แล้วไม่มีกระทะ หรือคนที่ขี้เกียจล้างกระทะ ซึ่งโมเดลนี้ตอบโจทย์มากๆ
2. โมเดล "GON Food ทัก"
เป็นโมเดลที่ร่วมกับพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งรถรถฟู้ดทรัคปิ้งย่างบุกโครงการบ้านจัดสรร เรียกได้ว่าเสิร์ฟตรงถึงหน้าบ้านเลย ล่าสุดมีบริการจอดปั๊มน้ำมันแล้วด้วย
จุ่มแซบฮัท
3. เพิ่มช่องทางจำหน่าย
นอกจากนี้ยังได้จับมือซุปเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรนด์ ร่วมกับพันธมิตรในอุตสากรรมอาหาร และค้าปลีก เข้าเจาะกลุ่มค้าปลีกทั่วประเทศ "เพิ่มช่องทางการจำหน่าย" ให้เข้าถึงคนมากขึ้น
4. ใช้ทฤษฎีกระจายความเสี่ยง
จากเดิมช่องทางรายได้ของเครือ "ฟู้ดแพชชั่น" ก็จะมาจากธุรกิจอาหารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันจะเน้นการหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น จากพันธมิตรร่วมธุรกิจ พร้อมเดินหน้าการเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แบบทฤษฎีกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
ชาบูร้านฌานา
5. เมื่อมีโอกาสมา ให้คว้าทันที!
การปรับตัวของธุรกิจด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา แน่นอนว่ามันไม่ได้สำเร็จภายในวันเดียว ต้องเรียนรู้ความเจ็บปวดในช่วงวิกฤติที่ถึงจุดตกต่ำ และทำความเข้าใจว่าวิกฤติจะไม่แย่ไปกว่านี้
"เมื่อมีโอกาสมา ให้คว้ามันทันที ชิงโอกาสพร้อมปล่อยหมัด"
ที่สำคัญสติต้องไม่หลุด ต้องตั้งสติแล้วลุกให้เร็ว จะช่วยให้หลุดพ้นวิกฤติได้ ยุคนี้คือยุคแห่งการทดลอง แพลนนิ่งเป็นสิ่งที่ดี ลองทำอะไรแล้วดีก็ทำต่อ อะไรไม่ดีกลับมาแก้ไข หาโอกาสใหม่ และเวลาที่เหมาะสม
----------------------
ที่มา : springnews