'สภาพัฒน์' หวังขีดสามารถแข่งขันไทยยืนหนึ่งอาเซียน แนะ 4 ข้อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ
"สภาพัฒน์" ชี้อันดับขีดสามารถในการแข่งขันของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มได้อีกหลังจากได้อันดับที่ 28 ปีนี้ตามการจัดอันดับของ IMD แนะเร่งยกระดับ 4 ด้านเพิ่มศักยภาพระยะยาว หวังเพิ่มคะแนนแซงมาเลเซียในระยะสั้นและสิงคโปร์ในระยะยาว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน "International Institute for Management Development" หรือ "IMD" ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้ได้อันดับ 28 จาก64 ประเทศทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปีที่ผ่านมานั้นประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นโดยมีเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ส่วนเป้าหมายในระยะสั้นคือการเพิ่มอันดับแซงประเทศมาเลเซียขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
ทั้งนี้การขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ต้องพัฒนาในหลายด้านคือ
1.ยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัยเข้าสู่ระบบดิจิทัลให้เร็วขึ้น รวมทั้งการปรับการใช้ข้อมูลภาครัฐให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์มาวางแผนจัดทำนโยบายต่างๆได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
2.เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เร็วขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้การสร้างโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจ
3.ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคน ยกระดับการพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และแนวโน้มการพัฒนาของเศรษฐกิจของโลกในอนาคต
และ 4.ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน และการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสภียรภาพได้อย่างต่อเนื่อง
นายดนุชากล่าวว่าในส่วนของการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้ที่เมื่อพิจารณาดูจากคะแนนในด้านต่างๆพบว่าคะแนนของไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน ยกเว้นในเรื่องของสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนนี้ IMD ให้ความสำคัญในส่วนของเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ และเรื่องของภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองส่วนเราได้คะแนนลดลงมากโดยในส่วนของการค้าระหว่างประเทศลดลง 16 อันดับ และการลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลงถึง 3 อันดับ โดยปัจจัยทั้งสองส่วนนั้นเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิดที่ส่งผลทั้งต่อการลงทุนและการส่งออกในปีที่ผ่านมาได้รับผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คะแนนลดลง
ส่วนคะแนนในเรื่องของระดับราคา (Price) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดคะแนนในด้านนี้ลดลง 9 อันดับจากอันดับที่ 28 มาอยู่ที่ 24 ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากในเรื่องของเงินเฟ้อแต่มาจากค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับรายได้ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง
ทั้งนี้ในส่วนของคะแนนที่เพิ่มขึ้นชัดเจนของประเทศไทยคือด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency)ประเทศไทยมีการขยับคะแนนขึ้น 3 อันับ โดยมีส่วนที่คะแนนปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดคือปัจจัยในเรื่องของกรอบการบริหารด้านสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส การปรับตัวในการดำเนินการของภาครัฐที่รวดเร็วมากขึ้นตามการขับเคลื่อน Ease of doing businessที่ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และภาคธุรกิจในการติดต่อกับภาครัฐ รวมทั้งความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้อันดับในส่วนนี้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 15 อันดับจากเดิมอยู่ที่ 53 มาเป็นอันดับ ที่ 38 ในปีนี้
ส่วนที่ต้องปรับปรุงยังมีอีกหลายด้าน เช่นเรื่องของการศึกษามีประเด็นที่ต้องให้ความสนใจตั้งแต่ใน อัตราส่วนครูต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่วัดโดยสถาบันต่างๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่านจากการวัดผล PISA ภาษาอังกฤษจากคะแนนเฉลี่ย TOEFL และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูลจาก Time Higher Education เป็นต้น
ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เรื่องผลิตภาพ (Productivity) ยังคงเป็นประเด็นที่ไทยมีอันดับต่ำทั้งในภาพรวมและทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ ส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานมีประเด็นสำคัญด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษาที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประเด็นสำคัญในด้านสุขภาพได้แก่ ด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อัตราส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร ด้านสิ่งแวดล้อมได้แก่ ความสิ้นเปลืองของการใช้พลังงาน อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ มลพิษทางอากาศ และการบาบัดน้ำเสียและประสิทธิภาพการใช้น้ำ เป็นของการพัฒนาในด้านอื่นๆ