เคลียร์อวนยักษ์ติดปะการัง เกาะโลซิน 'วราวุธ' ชื่นชมทุกฝ่ายช่วยกันจนสำเร็จ
ความคืบหน้า เคลียร์อวนยักษ์ติดปะการัง เกาะโลซิน หนักกว่า 800 กก. ด้าน "วราวุธ" ชื่นชมทุกฝ่ายช่วยกันจนสำเร็จ
กรณี มีการโพสต์ภาพอวนยักษ์ติดแนวปะการัง บริเวณเกาะโลซิน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการัง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำนักดำน้ำกว่า 40 นาย พร้อมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ลงพื้นที่จัดการเก็บกู้ทันที โดยสามารถเก็บกู้อวนได้กว่า 800 กิโลกรัม ประเมินความเสียหายของปะการัง ได้ประมาณ 550 ตารางเมตร ซึ่งได้เตรียมแผนฟื้นฟูพื้นที่แล้ว อีกทั้ง จะได้เร่งติดตามสืบสวนหาผู้กระทำความผิดและดำเนินการทางกฎหมาย รวมถึง เร่งรัดประกาศกฎกระทรวง เพื่อให้พื้นที่เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่พบอวนยักษ์ติดแนวปะการังบริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี ตนได้เร่งสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้นำทีมเก็บกู้อวนยักษ์ลงปฏิบัติการในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2564 และเสร็จสิ้นภารกิจแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564
โดยการปฏิบัติการครั้งได้ ได้มีการสนธิกำลังร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครกว่า 40 คน ซึ่งเป็นนักดำน้ำระดับ Instructor 14 คน และระดับ Dive Master 6 คน และได้รับการสนับสนุนจาก กองทัพเรือภาคที่ 2 นำทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใต้น้ำ 15 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ เรือหลวงราวี เรือ ต 991 เครื่องบินตรวจการณ์และเฮลิคอปเตอร์ อย่างละ 1 ลำ พร้อมทีมแพทย์สนามกรณีฉุกเฉิน เพื่อดูแลอาสาสมัครนักดำน้ำที่เข้าร่วมภารกิจ และยังมีทีมนักวิชาการ จากหลายหน่วยงาน ร่วมกันสำรวจประเมินความเสียหายแนวปะการัง
อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้เตรียมอากาศ Nitrox ให้นักดำน้ำทุกท่านได้ใช้ ในทุกไดฟ์ตลอดการปฏิบัติการ เนื่องจากระดับน้ำลึกพอสมควร ซึ่งภายหลังภารกิจเสร็จสิ้น ตนได้กำชับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสืบหาแหล่งที่มาของอวน และประมาณการค่าเสียหายของแนวปะการังและค่าใช้จ่ายจากการปฏิบัติการครั้งนี้ รวมถึง เร่งรัดการประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ตามมาตรา 20 แห่ง พรบ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ตนต้องขอขอบคุณภาพถ่ายจาก iManCamera ที่เป็นแนวหน้าในการถ่ายภาพแนวปะการัง นำมาสู่ปฏิบัติการช่วยชีวิตปะการังเกาะโลซินในครั้งนี้ และขอบคุณ Just Dive Thailand ด้วย รวมถึง นักดำน้ำอาสาสมัคร หน่วยงานกองทัพเรือ ศรชล. รวมทั้ง อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจจนทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี สุดท้ายตนต้องฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคน
“ขึ้นชื่อว่า ขยะ ก็คงไม่มีใครต้องการ ปะการังเองก็ไม่ต้องการขยะอวนนี้เช่นกัน
การลักลอบทำประมงอย่างขาดจิตสำนึกทำลายปะการังไม่อาจรับได้ เศษขยะยิ่งตกค้างมากเท่าไหร่ แสดงถึงจิตสำนึกที่ตกต่ำของผู้กระทำมากเท่านั้น”
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ทีมปฏิบัติเก็บกู้อวนเกาะโลซินได้เดินทางจากท่าเทียบเรือของฐานทัพเรือสงขลาเมื่อค่ำวันที่ 18 มิถุนายน 2564 โดยได้ลงดำน้ำเก็บกู้อวน 2 วัน สามารถเก็บกู้อวนขึ้นมาได้ทั้งหมด รวม 800 กิโลกรัม โดยอวนมีความยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร และได้ลงดำน้ำครั้งที่ 3 เพื่อประเมินความเสียหายของปะการัง และซ่อมแซมกิ่งที่แตกหักเสียหาย และเดินทางกลับถึงฐานทัพเรือสงขลา ทรภ. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งจากการสำรวจและประเมินเบื้องต้น อวนได้ปกคลุมแนวปะการังกว่า 2,750 ตารางเมตร ปะการังได้รับความเสียหายประมาณ 550 ตารางเมตร ลักษณะความเสียหายหลัก คือ ปะการังซีดจาง ฟอกขาวบางส่วน คิดเป็นร้อยละ 10 ปะการังแตกหัก ได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังแผ่น ปะการังจาน คิดเป็นร้อยละ 5 และปะการังมีรอยถลอก เสียดสี คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด
นอกจากปะการังยังมีผลกระทบอื่นๆ ประกอบด้วย ดอกไม้ทะเล และสัตว์หน้าดิน จำพวกปูและหอยเม่น ถูกทับและพันเกี่ยว อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้กำหนดแผนการฟื้นฟูทันที โดยจะดำเนินการปลูกทดแทนในพื้นที่เสียหาย สำหรับการดำเนินการทางกฎหมาย กรมฯ ได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ปัตตานี) เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสืบหาผู้กระทำผิด
ซึ่งคาดว่าเป็นเรือประมงเครื่องมือประมงอวนล้อมหิน หากพบมีการทำประมงในพื้นที่จะมีความผิดตามคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องพื้นที่คุ้มครองปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจาก ทำให้ปะการังเสียหาย แตกหักและตาย มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในมุมมองนักวิชาการอย่าง ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษและรองหัวหน้าภาควิชา ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเก็บกู้อวนที่เกาะโลซินถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้านการดูแลแนวปะการังของไทย ที่ทุกฝ่ายต่างเห็นความสำคัญและร่วมมือกันจนสามารถดำเนินการเก็บกู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลชายฝั่งที่สุด
อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเราต้องสร้างความร่วมมือด้านการลาดตระเวนเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลและจัดการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ คือ แรงกระตุ้นจากกระแสสังคม และประชาชนที่ช่วยกันเห็นหูเห็นตาในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล ซึ่งหากทุกคนช่วยกันเช่นนี้ ทรัพยากรทางทะเลของประเทศจะเพิ่มความสมบูรณ์ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ต่อไป ดร. ธรณ์ กล่าวแสดงความมั่นใจ