'นิพนธ์' นำ 'องค์การจัดการน้ำเสีย' ผนึก 'อีสท์วอเตอร์ ร่วมบริหารจัดการน้ำรองรับพื้นที่ EEC
"นิพนธ์" นำ "องค์การจัดการน้ำเสีย" จับมือ "อีสท์วอเตอร์" MOU ร่วมบริหารจัดการน้ำรองรับพื้นที่ EEC โดยศึกษาการนำน้ำเสียมาเปลี่ยนเป็นน้ำดี คู่ขนานแก้ปัญหาขาดแคลน สร้างทรัพยากรน้ำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มิ.ย.64 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การบริหารจัดการน้ำเสียในภาคตะวันออกระหว่างองค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) กับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการอจน. นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนมาตรการในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC)ที่คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ และเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย
ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาวและเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเชื่อมโยงการพัฒนาภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดความร่วมมือดำเนินงานศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ความร่วมมือ ยกระดับคุณภาพการให้บริการของทั้งสองหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความยั่งยืนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ
“องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จึงร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางในการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับกิจกรรมประเภทต่างๆในเขตพื้นที่EEC และจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ต่อไป” นายนิพนธ์ กล่าว