'อาเซียน' พึ่งเทคโนโลยีอิสราเอล เพิ่มผลผลิตการเกษตร
อาเซียนพึ่งเทคโนโลยีอิสราเอลเพิ่มผลผลิตการเกษตร ขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้กำหนดนโยบายต้องเตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมเพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมอาหารเกษตรให้ประสบความสำเร็จ
บรรดาบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรของอิสราเอลกำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่หลายประเทศอย่างไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ก็มองหาแนวทางต่างๆในการเพิ่มผลผลิตด้านอาหารจากภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นกัน
ที่ผ่านมา นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรของอิสราเอลรุกคืบเข้ามาในชุมชนการทำฟาร์มในเอเชียตะวัออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรระดับทวิภาคี
อย่างกรณีของไทย อิสราเอล ขยายความร่วมมือกับไทยด้วยการเปิดโรงเรือนหลังที่สอง ภายในศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากเปิดโรงเรือนแห่งแรกเมื่อปี 2561เพื่อเป็นแปลงสาธิตของเกษตรกรในท้องที่ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
โรงเรือนหลังที่สองนี้ติดตั้งระบบน้ำหยดและฉีดฝอยของอิสราเอล เพื่อช่วยให้การเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และโรงเรือนหลังนี้ได้รับการสนับสนุนจาก มาชาฟ หรือ ศูนย์ความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล
นอกจากไทยแล้ว เวียดนาม ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน ก็เตรียมลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับอิสราเอลเร็วที่สุดภายในปีนี้ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงที่เวียดนามทำร่วมกับอิสราเอลนั้น เปิดทางให้ทางการเวียดนามส่งแรงงานไปอิสราเอลเพื่อรับการฝึกอบรมและเรียนรู้ประสบการณ์ในภาคการเกษตรของประเทศนี้ได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบัน เวียดนามก็เหมือนกับไทย ที่มีโรงเรือนในจังหวัดวินห์ฟุก ทางตอนเหนือของประเทศที่ช่วยให้เกษตรกรเวียดนามสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรบางประเภทได้อย่างประสบความสำเร็จโดยใช้เทคนิคไฮโดรโปนิก
“สิ่งที่อิสราเอลจัดสรรให้คือเทคนิคการทำการเกษตรที่พึ่งพานวัตกรรม เช่นเทคนิคระบบน้ำหยด ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ช่วยให้การใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น พึ่งพาพลังงานน้อยลง”ซาคิ คาร์นิ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสิงคโปร์ กล่าว
เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสิงคโปร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน อิสราเอลมีบริษัทเกษตรและเทคโนโลยีด้านอาหารประมาณ 600 แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพการเกษตรนอกประเทศได้
ขณะที่สถาบันเพื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกโทนี่ แบลร์ ซึ่งเป็นสถาบัน่ไม่แสวงผลกำไร ระบุไว้ในรายงานปี 2562 ว่า อิสราเอลสามารถเป็นผู้นำระดับโลกด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะบ่งชี้ว่า 2 ใน 3 ของพื้นดินในอิสราเอลจะแห้งแล้งและดินมีคุณภาพต่ำ
ส่วนความสำเร็จของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำแก่พืชผลทางการเกษตรของอิสราเอล ประกอบด้วย การผลิตมะเขือเทศให้ผลผลิตสูงถึง 300 ตันต่อ 6 ไร่ 1 งาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 50 ตันของทั่วโลกอย่างมาก
นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้นำในการจัดการพืชผลหลังการเก็บเกี่ยว โดยบันทึกการสูญเสียการจัดเก็บเมล็ดพืชแค่ 0.5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 20%
ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงด้านอาหาร ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการชะงักงันของอุปทานจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประสบการณ์ด้านการเกษตรของอิสราเอลได้รับความสนใจจากบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่ต้องการสนับสนุนการทำฟาร์ม
สถาบันเพื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกโทนี่ แบลร์ ตั้งข้อสังเกตุว่า ภาคเกษตรกรรมและอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด ซึ่งการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมผลกระทบของการระบาดส่งผลกระทบต่อการจัดหาผลิตผลสู่ตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ด้านอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ บริษัทวิจัยชั้นนำ ระบุว่า การสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารเป็นกุญแจสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ โดยในปี 2562 ภาคการเกษตรและอาหารมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 717,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2558 อีกทั้งภาคส่วนนี้ยังมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 48% ของแรงงานทั้งหมด4ประเทศที่มีงานทำ 127 ล้านตำแหน่ง
“เจมส์ แลมเบิร์ต” ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า “ขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายต้องเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเกษตร เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาใหม่อย่างประสบความสำเร็จ”
ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรของอิสราเอล ไม่ได้เป็นที่ต้องการของประเทศเกษตรกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่เกษตรกรรมอย่างสิงคโปร์ก็สนใจและตั้งเป้าที่จะผลิตอาหารเพื่อรองรับความต้องการด้านโภชนาการให้ได้ในสัดส่วน 30% ภายในปี 2573
นอกจากนี้ สิงคโปร์และอิสราเอลยังตั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาและการวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมสิงคโปร์-อิสราเอล ที่เน้นด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ครอบคลุมด้านอาหารเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ระหว่างกันและสนับสนุนด้านเงินทุนสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ในโครงการต่างๆ
เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว ริวูลิส (Rivulis) บริษัทเทคโนโลยีชลประทานขนาดเล็กของอิสราเอล ได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบเพื่อให้บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิง กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 85%