รู้จัก 'มัรกัสยะลา' โควิดคลัสเตอร์ใหญ่ เหตุใดจึงน่ากังวล?
คลัสเตอร์โควิดที่กำลังสร้างความหวาดผวามากที่สุดคลัสเตอร์หนึ่งในขณะนี้ คือ “คลัสเตอร์มัรกัสยะลา” ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดทั้งกลุ่มที่ไปรวมตัวกัน และนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า “มัรกัสยะลา” คืออะไร และทำไมถึงกลายเป็นจุดเสี่
และทำไมถึงกลายเป็นจุดเสี่ยงโควิดได้
นี่คือภาพด้านหน้าของ “มัรกัสยะลา” ซึ่งปัจจุบันถูกสั่งปิด
มัรกัสยะลา คือ ศูนย์กลางของกลุ่มดะวะห์ในจังหวัดยะลา ซึ่งว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งรวมมุสลิมสายดะวะห์มากที่สุดในประเทศ
คำว่า “ดะวะห์" หมายถึงการเผยแผ่ศาสนา การออกชักชวนให้มุสลิมช่วยกันทำความดี หักห้ามการทำชั่ว
คนที่ออกเผยแผ่ศาสนา และเดินทางไปชักชวนให้คนอื่นๆ ทำความดี ในทางอิสลามเรียกว่า "ดะวะห์" ถ้าไปกันหลายๆ คนก็เรียก "กลุ่มดะวะห์" เรื่องนี้ไม่ใช่ภาคบังคับตามหลักศาสนา ใครจะทำก็ได้ เมื่อทำแล้วก็จะได้บุญ คนจำนวนหนึ่งเลือกทำในวัยเกษียณ อย่างเช่น คุณลุงชาวสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ที่ไปเสียชีวิตบนรถไฟ เมื่อปีที่แล้ว ถ้ายังจำกันได้ จนกลายเป็นดราม่าที่สร้างความหวาดผวาอยู่ช่วงหนึ่ง
เมื่อพูดถึง “การออกดะวะห์” ก็คือการออกเดินทางไปเผยแผ่ศาสนา สำหรับกลุ่มที่เพิ่งฝึกหัด จะใช้เวลา 3 วัน เมื่อเข้าใจในดะวะห์แล้ว ก็จะออกดะวะห์นานขึ้น เป็น 40 วัน และขั้นสูงสุด เป็นการดะวะห์ประชาชาติ นั่นก็คือออกดะวะห์ 4 เดือน ได้ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ และกลุ่มที่ออกดะวะห์ จะมีการรวมกลุ่มกันของผู้เผยแผ่ศาสนา เรียกว่า “โยร์” ซึ่งมีจัดขึ้นในหลายประเทศ ถ้ายังจำกันได้ “คลัสเตอร์กลุ่มโยร์” ก็เคยเป็นคลัสเตอร์การระบาดระลอกแรกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว
ย้อนกลับไปดูแผนที่ศูนย์มัรกัสยะลา ซึ่งเป็นศูนย์ดะวะห์ใหญ่ที่สุดของประเทศ หากเริ่มจากตัวเมืองยะลา ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟ ศูนย์มัรกัสจะอยู่ด้านหลังตลาดเก่า เข้าทางซอยสิโรรส 4
สำหรับพื้นที่ที่เป็นศูนย์มัรกัสยะลา จะมีทั้งมัสยิด อาคารรับรอง 2 ชั้น ลานจอดรถ และโรงเรียนฮาฟิส ซึ่งหมายถึงโรงเรียนสอนอัลกุรอาน มีนักเรียนหลายร้อยคน
ปัญหาของการแพร่ระบาดโควิดก็คือ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เสี่ยง จากพฤติกรรมการรวมตัวกันของกลุ่มดะวะห์ เมื่อมีการแพร่ระบาดในตอนแรก จังหวัดสั่งปิดศูนย์มัรกัสยะลา ทางโรงเรียนในมัรกัส จึงปล่อยนักเรียนกลับบ้าน จุดนี้เองที่กลายเป็นต้นตอการแพร่ระบาดออกนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนักเรียนที่มาเรียนมีมาจากแทบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่นๆ ด้วย ไกลที่สุดว่ากันว่ามาจากจังหวัดเชียงราย
ข้อมูลล่าสุดจาก ศบค. ที่แถลงช่วงสายวันนี้ มีรายงานการติดเชื้อจาก “คลัสเตอร์มัรกัสยะลา” มากถึง 402 รายแล้ว กระจายใน 12 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 111 ราย ยะลา 102 รายสตูล 46 ราย ปัตตานี 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรัง 3 ราย และภูเก็ต 3 ราย
ข้อมูลจาก ศบค.ยังระบุว่า ประชากรชุมชนนี้มีประมาณ 3-4 พันคน เป็นนักเรียน 500 คน มาจากพื้นที่ 17 จังหวัด กรมควบคุมโรครายงานไทม์ไลน์นักเรียนที่มีพฤติกรรมติดเชื้อจะเป็นการรวมกลุ่ม บประทานอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมทางศาสนาโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย มีการใช้ถาดอาหารหรือแก้วน้ำร่วมกัน
ที่น่าตกใจก็คือ ในจำนวน 12 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ มีภูเก็ตที่กำลังจะเปิดรับนักท่องแที่ยวตามแผน ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ด้วย ที่สำคัญผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ เป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา หรือ เบต้า มีข้อมูลยืนยันจากผลตรวจของ ศบค.จังหวัดยะลา และศบค.จังหวัดภูเก็ต
ความน่ากลัวของการแพร่กระจายเชื้อ สังเกตได้จากสำนักจุฬาราชมนตรี ต้องมีหนังสือถึงกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ช่วยกันค้นหาน้กเรียนจากมัรกัสยะลา ที่กลับภูมิลำเนาในจังหวัดของตน และไปคลุกคลีกับครอบครัว เพราะเสี่ยงที่จะเป็นการแพร่เชื้อโควิดกลุ่มก้อนขนาดใหญ่