ธุรกิจเตรียมพร้อม “เปิดประเทศ” เร่งฉัดวัคซีน-วอนรัฐเคาะมาตรการช่วยเหลือ
นับถอยหลังแบบวันต่อวัน ลุ้นการเปิดประเทศใน 120 วันตามที่รัฐประกาศนโยบายเชิงรุก บริหารจัดการโรคโควิด-19 ให้คลี่คลาย พร้อมสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วนก่อนอ้าแขนรับนักเดินทางทั่วทุกมุมโลกให้กลับมาเยือนไทย คืนชีพธุรกิจท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจไทยกระเตื้อง
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาสแผนเปิดประเทศภายใน 120 วัน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความหวัง ความตื่นตัวให้กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก หลายส่วนขานรับนโยบาย และจัดททัพธุรกิจ เตรียมความพร้อมรอบด้าน รอโอกาสการขับเคลื่อนกิจการร้านค้าให้กลับมามีชีวิตชีวาและฟื้นตัวอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และโรงภาพยนตร์
++ไมเนอร์ ฟู้ดฯ เร่งฉีดวัคซีนพนักงาน 15,000 คน
นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนโยบายรัฐประกาศเปิดเมืองภายใน 120 วัน ภารกิจที่บริษัทต้องดำเนินการเร่งด่วน คือการทำให้พนักงานราว 15,000 คนทั่วประเทศ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเปิดประเทศ จากปัจจุบันพนักงานได้รับวัคซีนยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่สอดคล้องกับสถานการณ์โดยรวมของประชาชนที่ได้รับวัคซีนทั้งประเทศ
ขณะที่แผนธุรกิจร้านอาหารครึ่งปีหลังยังต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายสาขาของร้านต่างๆ ต้องชะลอตัว แต่ไม่ถึงกับหยุด ภายใต้สถานการณ์ปกติแต่ละปี ไมเนอร์ ฟู้ดฯ มีการเปิดร้านอาหารหลักร้อยสาขา เช่น เบอร์เกอร์คิง 15-16 สาขา เดอะ พิซซ่า คอมปะนี 20 สาขา ร้านไก่ทอดบอนชอนปีก่อนเปิด 20-30 สาขา ร้านสเวนเซ่นส์ และแดรี่ควีนอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องโฟกัสในการทำตลาด คือบริการเดลิเวอรี่ การซื้ออาหารโดยไม่ต้องลงจากรถหรือไดรฟ์-ทรู ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของผู้บริโภคในการใช้บริการนั่งรับประทานในร้านยังไม่ฟื้นตัวกลับมา รวมถึงต้องรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ เมนูใหม่ๆสร้างความตื่นเต้นตอบโจทย์ผู้บริโภค และที่ขาดไม่ได้คือกลยุทธ์ด้านราคา และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ กระตุ้นการตัดใจของผู้บริโภค
“ที่ต้องทำเชิงรุกแน่ๆคือการเตรียมพนักงานให้พร้อมกลับมาทำงาน โดยเฉพาะการผลักดันให้พนักงาน 15,000 คนทั่วประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนภายใน 120 วัน ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดได้ลงทะเบียนรับวัคซีนแล้ว ส่วนแผนธุรกิจต้องระมัดระวังการขยายสาขาอยู่ แต่บริษัทไม่ถึงขั้นหยุดเปิดร้านใหม่”
++วอนรัฐผันเงินสู่ธุรกิจร้านอาหาร
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารอย่างมาก เพราะผู้บริโภคไม่ใช้จ่ายเงินจริงๆ จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงขอความเห็นใจจากภาครัฐ ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ต้องการให้ผันเงินเข้าสู่ระบบของธุรกิจร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการรายใหญ่บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับอานิสงส์ ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่มีภาระต้นทุนมหาศาล การจ้างงานจำนวนมาก
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา มีความคาดหวังมาก เราขอมีส่วนร่วมบ้าง แม้เราจะเป็นแบรนด์ใหญ่ แต่เผชิญความยากลำบากมาก ประสบภาวะขาดทุน ต้นทุนการบริหารสูง ต้องดูแลพนักงานจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาโครงการต่างๆที่ออกมา ธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ไม่มีส่วนร่วม ส่งผลให้ยอดขายตกลงหนักมาก จึงอยากให้รัฐพิจารณาเล็งเห็นธุรกิจอื่นด้วย”
++ฟาร์มเฮ้าส์ คุมสุขอนามัยพนักงาน 5,000 คน
นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาด “ฟาร์มเฮ้าส์” กล่าวว่า โรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย บริษัทให้ความสำคัญกับมาตรการดูแลสุขอนามัยของพนักงานอย่างมาก โดยโรงงานผลิตเบเกอรี่ 3 แห่งในปัจจุบันมีพนักงานราว 5,000 คน ก่อนเข้าทำงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิ เช็คประวัติอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีญาติป่วย จะสั่งพักงานทันที และให้ทำงานที่บ้าน มีการรักษาระยะห่างในการทำงาน รวมถึงระยะห่างในการรับประทานอาหารที่โรงอาหารด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามประสานหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาวัคซีนฉีดให้กับพนักงานโดยเร็ว เพราะปัจจุบันคนที่ได้ฉีดยังมีน้อย ส่วนแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง ยังต้องชะลอการลงทุน โฟกัสการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายๆต่าง เพื่อทำให้การเติบโตยอดขายไม่ให้ต่ำกว่าปี 2563 รวมถึงรักษาการทำกำไรไว้
“วิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด กระชากทุกอย่างให้ดิ่งลงเร็วมาก กำลังซื้อมีความผันผวน ผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า เมื่อรัฐคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัจจัยเหล่านี้บริษัทต้องปรับแผนงานกันทุกวัน”
++โรงหนังรอวันเปิดบริการ
ด้านธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่มีสาขาในเขตกรุงเทพฯ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 30 มิถุนายน 2564 ส่วนสาขาที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ยังปิดบริการชั่วคราวตามคำสั่งของจังหวัดฉบับทที่ 38 และ 47 ยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการ แต่ผู้ประกอบการได้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น เอสเอฟ ซีเนม่า เปิดให้บริการจำหน่ายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มแทน ส่วนโรงภาพนตร์เอสเอฟ ซีเนม่า ที่ยังเปิดให้บริการมี 21 แห่งทั่วประเทศ
นางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสเอฟ ยังรอคอยที่จะให้บริการแก่คอหนังชาวไทยทุกคน โดยจะยังใช้มาตรการดูแลด้วยใจเพื่อดูแลลูกค้าทุกคนอย่างดีที่สุด และสร้างความปลอดภัยจากไวรัสในทุกสาขา
ขณะที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เมื่อสาขาในบางพื้นที่ปิดให้บริการชั่วคราว แต่ช่วงเวลานี้ยังมีหนังฟอร์มดีเข้าฉาย จึงโปรโมทให้ผู้บริโภคไปใช้บริการในสาขาใกล้เคียง เช่น ดินแดนไร้เสียง ภาค 2 หรือ A Quiet Place Part 2 เข้าฉาย 17 มิถุนายนนี้ ในสาขาที่เปิดให้บริการ และฉายจริง 1 กรกฎาคมนี้ สามารถไปใช้บริการที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รังสิต, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โรบินสัน สมุทรปราการ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สำโรง เป็นต้น บริษัทยังปรับตัวเน้นจำหน่ายป๊อปคอร์นมากขึ้น ทั้งเปิดร้านป๊อปสตาร์ รูปแบบคีออส ที่สาาขาเมกา บางนาและสยามพารากอน เปิดบริการเมเจอร์ เดลิเวอรี่ ส่งป๊อปคอร์นถึงบ้าน เป็นต้น