'กฟผ.' เตรียมแผนวางแม่เมาะ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้าย
แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่คำนึงถึงการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยจะมุ่งเน้นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่เป็นโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ในอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศนั้น
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในพื้นที่ภาคเหนือ จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่ภาครัฐยังมีการรับซื้อเข้าระบบ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1) ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ในปี 2569
โดยปัจจุบัน กฟผ.ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และ สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนได้ภายในปีนี้
“ล่าสุดเมื่อปี 2562 โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4-7 เพิ่ง COD ก็เหลือ เครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ที่จะยังเกิดขึ้นตามแผน PDP 2018 Rev.1 ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ได้มีประเด็นอะไร พร้อมเห็นชอบตามPDP ก็ต้องดูว่า สศช.จะมีประเด็นอะไรหรือไม่ ก็รอความเห็นส่งกลับมา ถ้าไม่มีอะไรก็เสนอครม.เพื่ออนุมัติลงทุนต่อไป”
ก่อนหน้านี้ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่า ได้เตรียมพร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของภาคเหนือ ได้แก่ โครงการ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ได้จัดทำรายงานรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการได้ภายในเดือนพ.ย. 2564
แหล่งข่าวการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ยูนิตที่ 8-9 หรือ แม่เมาะรีเพลสเม้น 2 (Mae Mo Replacement 2) ที่หมดอายุในปี 2563 จะเป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิม เบื้องต้น คาดว่า จะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการแม่เมาะรีเพลสเม้น 1 ที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยูนิตที่ 4-7 ขนาด 650 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนประมาณ 3 ปี
ทั้งนี้ ในปี 2570 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยูนิตที่ 10-13 จะเริ่มทยอยหมดอายุลงเช่นกัน ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือหายไปราว 1,200 เมกะวัตต์ หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน ปัจจุบัน กฟผ.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแผนว่าจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนได้หรือไม่ เพราะจะต้องดูปริมาณสำรองถ่านหินด้วย ซึ่งจะต้องเพียงพอป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา 30 ปี ขณะที่ ปัจจุบัน ถ่านหินมีปริมาณสำรองประมาณ 300-400 ล้านตัน มีการใช้อยู่ที่ 16 ล้านตันต่อปี แต่ในอนาคตหากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทยอยหมดอายุลงจะทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง 50% หลังปี 2570 เป็นต้นไป
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคเหนือ ด้วยกำลังผลิตรวมประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือเกินกว่าความต้องการใช้เล็กน้อย จึงสามารถส่งกำลังผลิตที่เหลือไปป้อนความต้องการใช้ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ แต่หากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอนาคตลดลง หรือไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ก็อาจจะต้องรับไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปทดแทน