Kim DeFi Daddy เปิด 5 เคล็ด (ไม่) ลับ ก่อนลงทุน DeFi
"กานต์นิธิ ทองธนากุล" เผย 5 เคล็ดลับก่อนลงทุนใน DeFi พร้อมทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่-รูปแบบการหาผลตอบแทนจากการลงทุน
นายกานต์นิธิ ทองธนากุล เจ้าของเพจ Kim Defi Daddy เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์ "DeFi พลิกโลกการเงินในอนาคต" โดย กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า DeFi หรือ Decentralized Finance เป็นระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางที่ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น การกู้ยืม หรือการแลกเงิน ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร อย่างไรก็ดี DeFi ถือเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่หากนับจากเหรียญแรก "อีเธอเรียม" ที่ออกมาเมื่อ 5-6 ปีก่อน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการพิสูจน์ และการเรียนรู้
สำหรับการแสวงหาประโยชน์ผ่าน DeFi สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยในช่วงแรกการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการขุดเหรียญด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีระบบการประมวลผลสูง ถัดมาเป็นการซื้อขายทำกำไรกันบนกระดานต่างๆ เช่น ซิปเม็กซ์ (Zipmex) เป็นต้น และสุดท้ายคือการลงทุน ICO หรือการเสนอขายเหรียญดิจิทัลต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งมีลักษณะคล้ายการระดมทุน IPO หรือการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีกฎเกณฑ์รองรับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเห็นการเสนอขาย ICO ในประเทศไทยในระยะถัดไป
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถลงทุนในแพลตฟอร์ม DeFi เช่น Compound Finance ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำลองโลกธนาคารที่นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้ามาฝากเงินได้ และมีสิทธิรับดอกเบี้ยหรือปันผลผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเก็บได้ โดยธนาคารที่ใช้เทคโนโลยี DeFi มีจุดเด่นตรงที่ไม่มีต้นทุนในการบริหารจัดการเหมือนธุรกิจธนาคารรูปแบบเดิม ส่งผลให้สามารถกระจายรายได้ไปสู่นักลงทุนในแพลตฟอร์มได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ความเสี่ยงของ DeFi อยู่ตรงที่ไม่มีผู้ควบคุมกฎ (Regulators) รวมถึงมีข้อจำกัดตรงที่ผู้ใช้งานต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในแง่มุมอื่นๆ เช่น ลักษณะการทำธุรกรรมแบบทางเดียว (One-way Transaction) ที่หากโอนผิดแล้วปลายทางไม่สามารถโอนคืนได้ หรือความเสี่ยงที่มีผู้สร้างแพลตฟอร์มหลอกเงินนักลงทุนเป็นต้น
"DeFi คล้ายกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต (Internet) ที่ในยุคแรกต้องต่อโมเด็มบ้าน และคนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ยังน้อย แต่ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่เข้ามาบุกเบิกในช่วงนี้"
สำหรับเทคนิคการลงทุนใน DeFi นายกานต์นิธิ กล่าวว่า ส่วนตัวใช้ 5 เทคนิคหลัก ได้แก่ 1. การพิจารณามูลค่าที่ถูกล็อกไว้ในแพลตฟอร์ม (Total Value Locked) หากมีมูลค่าระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ราว 3 พันล้านบาท) ถือว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง 2. การเลือกลงทุนในแพลตฟอร์มที่ได้รับการตรวจสอบจากบริษัทผู้ตรวจสอบ (Audit Company) และมีการออกใบรับรอง (Certificate) 3. การเลือกแพลตฟอร์มที่มีระยะเวลาเปิดดำเนินตั้งแต่ครึ่งปีถึง 1 ปีขึ้นไป และไม่เคยโดนแฮกระบบ
4. การพิจารณาพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) และผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์ม และ 5. การจดทะเบียนในตลาดที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น เหรียญของแพลตฟอร์ม (Governance Token) มีการซื้อขายอยู่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชื่อเสี่ยง เช่น ไบแนนซ์ (Binance) หรือ Zipmex เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่าได้รับการตรวจสอบมาแล้วระดับหนึ่ง