เดิมพัน Re-Solution ไพ่สุดท้าย 'ปิดสวิตช์ ส.ว.'
เป็นสถานการณ์เดิมพันของ Re-Solution ต่อการคว่ำอำนาจ ส.ว.จากการยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนกำลังถูกมองว่าจะซ้ำรอย "ไอลอว์" หรือไม่
ถึงแม้ผลการลงมติจากที่ประชุมรัฐสภาจะตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกในชั้นรับหลักการทั้ง 12 ร่าง เหลือเพียง 1 ร่างจากพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะไม่เกินความคาดหมายจากสายตาการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะการคงอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีจาก "ส.ว." ตามมาตรา 272 ยังบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560
แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อการล่าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกสภายังเดินหน้าต่อไป ตั้งแต่ร่างของ "โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน" หรือ "ไอลอว์" กับผู้สนับสนุน 98,041 คนในแคมเปญ "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" เพื่อการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะมีอันเป็นไปเมื่อช่วงปลายปี 2563 จากการโหวตในที่ประชุมรัฐสภาไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระแรกภายหลังได้เสียง ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3
เมื่อเนื้อหาในเวอร์ชั่นของ "ไอลอว์" ยังพุ่งเป้าไปที่ "มาตรา 272" ซึ่งเป็นจุดชี้วัดอำนาจ ส.ว.ต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะการภายใน 5 ปี โดยให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อปิดทางการเข้ามาของนายกฯ คนนอก เนื่องจากมาตรานี้เปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง
ไม่ใช่แค่การเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก "ไอลอว์" เพียงอย่างเดียว แต่ใน "มาตรา 272" ยังเป็นจุดยืนเดียวกับการเคลื่อนไหวโดยกลุ่ม "Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่" ในแคมเปญ "ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์" ซึ่งมาจากความร่วมมือ 4 องค์กรตั้งแต่ คณะก้าวหน้า รัฐธรรมนูญก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และไอลอว์
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ "Re-Solution" ประเมินไว้ว่ามาจาก 2 เส้นคู่ขนาน ตั้งแต่เส้นที่ 1 ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาทดแทนรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ และเส้นที่ 2 ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มาจากหลายกลุ่มการเมือง
แต่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ถูกเสนอจาก Re-Solution มีเป้าหมายใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ถูกร่างโดย "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ ส.ส.ร. ตามโมเดลการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเน้นไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาแก้ไขได้ทุกหมวดและทุกมาตรา
การเคลื่อนไหวจากกลุ่ม Re-Solution รอบนี้ได้จุดพลุเปิดแคมเปญไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเป็นเวลา 13 วันที่มีผู้สนใจร่วมลงชื่อไปแล้วมากกว่า 7.3 หมื่นคน เพื่อเปิดทางแก้ไข 4 ประเด็นที่ Re-Solution มองว่าปัญหาใหญ่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.ล้มวุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว 2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ 3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ ปลดโช่ตรวนอนาคตประเทศ และ 4.ล้างมรดกรัฐประหาร
หากเปรียบเทียบเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญฉบับ "ไอลอว์ และ Re-Solution" มีความใกล้เคียงในหลายประเด็น อาทิ ฉบับของ "ไอลอว์" ต้องการยกเลิก "นายกฯคนนอก" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกลุ่ม Re-Solution เคลื่อนไหวสุดเพดานไปถึงการยกเลิก ส.ว. และคงเหลือ "สภาฯเดี่ยว" เฉพาะ ส.ส.เท่านั้น ขณะที่ "จุดร่วม" ของทั้ง 2 กลุ่มนั้นอยู่ที่การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ
แต่แล้วเมื่อประตู "ปิดสวิตช์ ส.ว." ถูกปิดตายลงโดยที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. แต่ประตูอีกบานกำลังถูกเปิดโดยภาคประชาชน Re-Solution เพื่อเดินหน้าหลักการสำคัญเรื่องประชาชนควรมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมเพื่อกำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
จากแคมเปญ "ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์" ในเป้าหมาย 5 หมื่นชื่อจาก Re-Solution โดยมุมมองจาก "พริษฐ์ วัชรสินธุ" ผู้ร่วมก่อตั้ง Re-Solution อยากให้เห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนไม่ได้แก้ไขเพื่อให้ประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อสร้างระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายแข่งขันกันได้บนกติกาที่เป็นธรรม
ขณะที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Re-Solution เปรียบเทียบการตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนการ "ไฮแจ็ค" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้จึงเร่งรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนทั่วประเทศ และตรวจสอบเมื่อทำตามกระบวนการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วคาดว่าร่างจะได้รับการบรรจุญัตติภายในปีนี้
ไทม์ไลน์ทั้งหมดเป็นสถานการณ์เดิมพันของ Re-Solution ต่อการคว่ำอำนาจ ส.ว.จากการยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนกำลังถูกมองว่าจะซ้ำรอย "ไอลอว์" หรือไม่
เมื่อประเด็นร่างแก้รัฐธรรมนูญของ "เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ก็ถูกปิดสวิตช์กลับจาก ส.ว.โดยไม่เป็นท่ามาแล้วเช่นกัน.