ธุรกิจโอดกระทบสาหัสมาตรการรัฐน็อค 'อสังหา-ร้านอาหาร'
ภาคธุรกิจช็อคมาตรการด่วน ปิดแคมป์ก่อสร้าง-ห้ามนั่งทานในร้าน 30 วัน อสังหาฯแนะถอดโมเดลตลาดกลางกุ้ง ลดผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก อนุญาตแคมป์กับไซต์คนงานอยู่ที่เดียวกันทำงานได้ “ร้านอาหาร” เล็งปิดบางสาขา-ให้พนง.หยุดแบบไม่รับเงินเดือน จี้ช่วยเยียวยา
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1 เดือนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมไปถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ที่มีการแพร่ระบาดเริ่มวันจันทร์ ที่ 28 มิ.ย. ยังมีความสับสนอยู่ในรายละเอียดถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเข้าใจได้ว่ารัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหา แต่มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจาก 1.เป็นการหยุดกิจกรรมในการก่อสร้างและธุรกิจเชื่อมโยงทั้งต้นน้ำและปลายน้ำทั้งหมดมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีตัวคูณทวี (Multiplier effect) ทางเศรษฐกิจที่สูงจึงมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงตามไปด้วย 2. ต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณในการชดเชยแรงงานทั้งหมด 3.ต้องใช้กำลังคนฝ่ายทหาร ตำรจหรือฝ่ายปกครองในการกำกับดูแลจำนวนมาก
ทั้งนี้ จึงมีข้อเสนอแนะที่มีแนวทางคล้ายคลึงกันโดยที่ไม่หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจเชื่อมกันเหมือนกับที่ประกาศออกมา กล่าวคือ
1.กรณีที่แคมป์คนงานกับไซต์งานอยู่คนละที่กัน ควรเป็นการคุมการเดินทางระหว่างแคมป์คนงานกับไซต์งาน
2.กรณีแคมป์คนงานกับไซต์งานอยู่ที่เดียวกันควรเป็นการควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่เท่านั้น
3.ทั้ง 2 กรณีข้างต้น ยังคงใช้กำลังคนฝ่ายทหารตำรวจหรือฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกำลังคนของฝ่ายผู้ประกอบการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อเป็นการลดงบประมาณ
4.มีการตรวจเชิงรุกสำหรับแรงงานที่ติดโรคโควิดมีผลเป็นบวก ก็ทำการแยกออกไปทำการรักษา ส่วนแรงงานปกติก็ทำงานต่อไปได้ รัฐบาลไม่สูญเสียงบประมาณในการเยียวยา เพราะแยกคนป่วยออกไปรักษาแล้ว
5.รัฐบาลควรจะนำโมเดลการแก้ปัญหาที่เคยใช้ในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครมาประยุกต์ใช้ด้วยการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่และมีมาตรการคุมเข้มในรัศมีรอบนอก
ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะแคมป์คนงานในไซต์งาน ในกรุงเทพฯ แคมป์คนงานกับไซต์งานมักอยู่คนละพื้นที่ เพราะมีพื้นที่จำกัด ขณะที่ปริมณฑลแคมป์คนงานในไซต์งาน มักอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือพื้นที่ใกล้เคียงไซต์งาน
หวังมาตรการแก้ปัญหาได้จริง
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า คำสั่งปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1เดือนเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะเป็นคำสั่งจากรัฐ ที่พยายามจะแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทางผู้ประกอบการอสังหาฯ พร้อมให้ความร่วมมือแต่อยากให้มาตรการที่ออกมาตอบโจทย์ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาแพร่ระบาดและเศรษฐกิจด้วย
มาตรการครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ ในการส่งมอบโครงการให้ผู้ซื้อที่รอการโอน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องการผิดสัญญากับลูกค้า และความล่าช้าทำให้มีต้นทุนเกิดขึ้น ไม่ว่าะเป็นต้นทุนทางการเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่าย
"มองว่า หากแคมป์คนงานกับไซต์คนงานอยู่ในรั้วเดียวกันไม่ควรจะหยุดงาน ถ้าไม่ได้ติดโควิด รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเยียวยา เพราะคนงานได้รายได้เต็มจากการทำงาน เท่ากับประหยัดงบที่มีอยู่จำกัดไปใช้อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งคนงานก็อยากได้เงินเต็มๆ ไม่ใช่แค่ครึ่งหนึ่ง ต่อให้นั่งๆ นอนๆ แล้วได้ครึ่งหนึ่งเขาไม่ได้อยากได้เพราะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำวัน"
โดยธรรมชาติของคนงานรับเงินค่าจ้างมาใช้จ่ายบริโภควันต่อวัน ไม่ได้มีเงินเก็บในบัญชีเช่นมนุษย์เงินเดือน จึงต้องใช้เงินที่ตกเบิกได้เร็ว “วันต่อวัน” หรืออย่างช้ารายสัปดาห์
ขณะเดียวกัน การหยุดกิจกรรมก่อสร้าง 1 เดือนทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักแต่ก็ยังพอมีโอกาสที่ทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติได้ทันเวลา หลังจากที่ครบเดือน ผู้ประกอบการจะต้องเร่งการก่อสร้างให้ทันเวลาที่กำหนดด้วยการทำงานล่วงเวลา (โอที) แต่นั่นหมายความว่าแรงงานที่หายไปกลับมาทำงานได้ตามปกติ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบตามมาภายหลัง เพราะจำนวนแรงงานลดลง
รัฐบาลต้องมอง2ด้าน
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับแนวทางดำเนินงาน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่พยายามเร่งโอน เนื่องจากคำสั่งที่ออกมาทุกแคมป์ก่อสร้างต้องหยุดการก่อสร้างหมด ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
“อยากให้รัฐบาลมอง 2 ด้านทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพควบคู่กันในการออกมาตรการแต่ละครั้ง”
ในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบในการชะลอการเก็บรายละเอียดงานในโครงการคอนโดมิเนียมที่กำลังแล้วเสร็จ 2 โครงการได้แก่ โครงการเดอะทรี พัฒนาการ และ เดอะ ไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ จากเดิมคาดเสร็จเดือน ต.ค. อาจเลื่อนเป็น เดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งยอมรับว่าเวลานี้ กังวลมาก เพราะ 2 โครงการนี้เป็นความหวังของปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดโอนสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 30% เพราะกลุ่มลูกค้ารอโอนเป็นคนไทย 80% ที่เข้ามาโอนมูลค่า 400-500 ล้านบาท ดังนั้นอาจหันมาให้ความสำคัญกับโครงการแนวราบที่กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะคนงานอยู่ในแคมป์อยู่แล้วส่วนหนึ่งแทน
ชี้น็อคธุรกิจล้มทั้งยืน
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านปิ้งย่างอากะ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซน ฯลฯ กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการร้านอาหารจะคาดการณ์ว่ามาตรการของ ศบค.จะไม่อนุญาตให้นัั่งรับประทานในร้านอีกครั้ง แต่การปิดให้บริการนั่งทานที่ร้าน 30 วัน มองว่ายาวนานเกินไป และกระทบผู้ประกอบการรายย่อยหนักมาก
“ครั้งนี้ถือเป็นการน็อคให้ธุรกิจล้มทั้งยืน เพราะวัตถุดิบที่สต๊อกไว้เสียหาย กระแสเงินสดหดหายยิ่งขึ้น และทุกครั้งออกมาตรการมาไร้การเยียวยาภาคธุรกิจด้วย”
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการห้ามนั่งรับประทานในร้าน คือ 14 วัน ซึ่งผู้ประกอบการยังสามารถบริหารจัดการสภาพคล่อง และหาทางประคองธุรกิจได้บ้าง เมื่อยืดเยื้อถึง 30 วัน เชื่อว่าทุกรายจะหันมาพิจารณาการ “ปิดร้านอาหารชั่วคราว” ในร้านที่ไม่มีลูกค้า และปรับโมเดลทำดีลิเวอรี่ไม่ได้ เพื่อลดผลกระทบ
เล็งให้พนง.หยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน
เซ็น กรุ๊ป มีร้านอาหารในเครือหลากแบรนด์รวม 350 สาขา เป็นแฟรนไชส์ราว 200 สาขา มีพนักงานราว 3,000 คน เช้าวานนี้ (27 มิ.ย.)ได้ประชุมหารือกันถึงแนวทางการให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนหรือ Leave without pay
“ธุรกิจร้านอาหารเป็นด่านแรกเสมอที่รัฐออกมาตรการควบคุม เมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหม่ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมอนามัย ข้อมูลพบผู้ติดเชื้อไวรัสจากร้านอาหารมีต่ำมาก เพราะร้านมีการดูแลสุขอนามัยอย่างดี พนักงานสวมหน้ากาก ใส่เฟสชิลด์ แต่รัฐกลับไม่มองตรงนี้ ควรพิจารณามีผู้ติดเชื้อตรงไหนควรแก้ไขที่จุดนั้น”
ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐที่ออกมาจะทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องพิจารณาปิดร้านบางสาขาเป็นการชั่วคราว ให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้
ส่วนการปรับโมเดลสู่บริการส่งตรงถึงบ้าน หรือ ดีลิเวอรี่ เพื่อให้อยู่รอดได้นั้น ผู้ประกอบการทุกรายไม่สามารถปรับตัวเหมือนกันทั้งหมด เช่น ร้านบุฟเฟ่ต์ เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไม่นิยมรับประทานที่บ้าน แต่ต้องการมานั่งที่ร้าน ดังนั้น แบรนด์อากะ มี 26 สาขา จึงได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน
ส่วนร้านที่ยังเป็นฮีโร่ เช่น ตำมั่ว เขียง ยังพอไปได้ เนื่องจากได้ปรับกลยุทธ์ ขยายไปย่านชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เพื่อให้เป็นปิ่นโตส่งถึงลูกค้า รวมถึงการผลิตอาหารพร้อมทานเพื่อรับกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารมีความเป็นส่วนตัวหรือ Personalize มากขึ้น จากเดิมเน้นแบ่งกันทาน
จี้รัฐหนุนวัคซีน-เงินเยียวยา
นายวิน สิงห์พัฒนกุล เจ้าของร้านไวน์ ไอ เลิฟ ยู และร้านชอคโกแลตวิลล์ กล่าวว่า หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศมาตรการคุมโรควิด-19 ตอนเที่ยงคืน ห้ามนั่งทานอาหารที่ร้านทุกแห่งให้ซื้อกลับเท่านั้น สร้างความตกใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสาหัส ร้านหลายรูปแบบไม่สามารถปรับตัวให้บริการดีลิเวอรี่ได้ เช่น ร้านหรูหรือไฟน์ไดนิ่ง แม้บางรายขยายบริการดีลิเวอรี่แต่อาจต้องประสบภาวะขาดทุนจากการแบกรับค่าการตลาด(จีพี)ที่สูง
เมื่อออกมาตรการมาแล้ว อยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 2 ข้อ 1.เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงาน ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ได้ภายใน 30 วัน เพื่อให้การล็อคดาวน์ครั้งนี้เป็นการเจ็บแต่จบจริงๆ หากกลับมาเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้วันที่ 1 ก.ค. จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการด้วย 2.การให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพราะการล็อคดาวน์ทำให้ธุรกิจอยู่ในภาวะเลือดไหลหมดตัว
“ถ้ารัฐให้เงินอย่างเดียว แต่ไม่ให้วัคซีนแก่ธุรกิจร้านอาหารเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่จบ อาจเปิดปิดแบบนี้ไปตลอด ขณะเดียวกัน 30 วันที่ร้านต้องปิดให้บริการ ผู้ประกอบการพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ แต่กินเวลายาวนานเหลือเกิน จนไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว”