เจ็บแล้วไม่จบ แรงกดดันรัฐบาล
ประชาชนต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้อีกนานแค่ไหน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบ 18 เดือน ที่ผ่านมา ประชาชนและผู้ประกอบการมีต้นทุนจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากน้อยแตกต่างกันไป
พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด (สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี) เป็นเขตที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบัน โดยถ้านับจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 27 มิ.ย.2564 รวมเกือบ 3 เดือน มีผู้ติดเชื้อรวม 112,123 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ 65,336 คน และการติดเชื้อในปริมณฑล 5 จังหวัด 46,787 คน
ปัจจุบันมีคลัสเตอร์ในเขตกรุงเทพฯ ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดถึง 111 คลัสเตอร์ ครอบคลุมแคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาดสด โรงงานและชุมชน และหากพิจารณาพื้นที่จะพบว่าโซนกรุงเทพฯ กลาง มีความหนาแน่นของจำนวนคลัสเตอร์มากที่สุด โดยเฉพาะเขตราชเทวีและเขตห้วยขวาง ซึ่งจำนวนคลัสเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเหตุผลสำคัญของการออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
คำสั่งดังกล่าวทำให้ประชาชนต้องอยู่ในภาวะการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น หลังจากการระบาดระลอกที่ 3 ยาวนานต่อเนื่องมาใกล้ครบ 3 เดือนแล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการควบคุมโรคที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตแบบระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่การควบคุมการระบาดที่ช่องว่างอยู่เสมอจากหลายสาเหตุนับตั้งแต่การเกิดคลัสเตอร์ทองหล่อจากสถานบันเทิงที่เป็นพื้นที่ระบาดลำดับต้นของระลอกที่ 3
คำถามที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้อีกนานแค่ไหน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบ 18 เดือน ที่ผ่านมา ประชาชนและผู้ประกอบการมีต้นทุนจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากน้อยแตกต่างกันไป โดยประชาชนและผู้ประกอบการต่างมีต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้นและต้นทุนจากรายได้ที่ลดลง ในขณะที่รัฐบาลมีต้นทุนจากการป้องกันการระบาด การเยียวยาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่นับเฉพาะเงินกู้มีวงเงินถึง 1.5 ล้านล้านบาท
รัฐบาลหลายประเทศเจอโจทย์จากโรคโควิด-19 ไม่ต่างกันมากนัก แต่การจัดการการระบาด การเยียวยาและการฟื้นฟูผลกระทบขึ้นกับประสิทธิภาพของรัฐบาลแต่ละประเทศ โดยประเทศที่เคยรับมือได้ดีแต่กลับมาระบาดในวงกว้างมีไม่น้อย ดังนั้นหากประเทศไทยคาดหวังการยกระดับประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ นั่นหมายความว่าการจัดการภาวะวิกฤติต้องอยู่ในระดับดี เพื่อให้ประเทศฟื้นกลับมาได้เร็ว รวมทั้งลดความบอบช้ำของประชาชนและผู้ประกอบการไม่ให้เจ็บแล้วเจ็บอีกจนอยู่รอดจากวิกฤติไม่ได้