'Plant-based' อาหารทางเลือก โอกาสบนความยั่งยืน สู่เป้า 'Net Zero'
ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช” หรือ “Plant-based Food” อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง กลายเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฯ
ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ขยายตัว เป็นหนึ่งในตัวการทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในเชิงกสิกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สหประชาชาติ ได้กำหนด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปล่อยคาร์บอนฯ กว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมด นำมาซึ่งความพยายามลดผลกระทบจากอุตสาหกรรม ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ลดการปล่อยมลพิษ ผลักดันให้คาร์บอนเป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ส่วนประกอบพืชแทนเนื้อสัตว์ อาหารออแกนิค หรือแพจเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช” หรือ “Plant-based Food” อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง กลายเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฯ แม้ปัจจุบันความนิยม Plant-based Food ในไทยจะยังไม่สูงเท่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาด Plant-based Food ที่ใหญ่ที่สุด แต่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย มองว่า ธุรกิจ Plant-based Food ในไทยมีโอกาสสร้างกำไรดีขึ้นจากเดิม 2-10% ไปสู่ระดับ 10-35% และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่ม Plant-based Food ที่มีโอกาสเติบโตในไทย คือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) อาหารปรุงสำเร็จจากพืช (Plant-based Meal) และไข่จากพืช (Plant-based Egg) นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนของ Startup ในต่างประเทศ กลุ่ม Bio-engineered Food เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563
บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ในฐานะเป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเป้าหมายการเป็นผู้นำระดับโลกในการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต “Food For Future”
แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF กล่าวว่า NRF เป็นบริษัทที่พยายามต่อสู้กับโลกร้อน ด้วยการผลิตอาหารที่ยั่งยืน มุ่งมั่นให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ภายใต้กลยุทธ์เดินหน้าสร้างโรงงานในแต่ละทวีปทั่วโลก เพื่อผลิตอาหารที่คาร์บอนต่ำ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลก
ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่า SDGs เป็นโอกาสเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ ในระบบเศรษฐกิจ 4 ระบบ ได้แก่ อาหารและการเกษตร เมือง พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อันเป็นผลมาจากโอกาสใหม่ ๆ และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารมีโอกาสเป็น 1 ใน 4 ดังนั้น โอกาสมีหลากหลายตั้งแต่วัตถุดิบ เทคโนโลยี การบริโภค
ที่ผ่านมา NRF มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (The Next Evolution of Food) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วัตถุดิบและส่วนประกอบของอาหาร (Processing, Productivity, Raw Material, Ingredients) เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน มีรสชาติถูกปาก สร้างความสุข และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ให้กับผู้บริโภคทั่วโลก มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations) ขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว โดยได้ริเริ่มโครงการ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของ NRF เพื่อเดินหน้าถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “แดน” กล่าวว่า
แผนระยะสั้น คือ ต้องเป็นบริษัทที่เป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน NRF เป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทย
ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง “องค์กรปราศจากคาร์บอน” (Carbon Neutral) สองปีซ้อน พร้อมทำความร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร ในการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ลดการปล่อยคาร์บอนในโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการใช้เคมีภัณฑ์ในวัตถุดิบให้น้อยลง ลดการทำร้ายดิน อีกหนึ่งเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรลดการใช้เคมีเพื่อช่วยปรับหน้าดิน เพราะดินมีส่วนสำคัญในการดูดคาร์บอน
แผนระยะปานกลาง คือ การปลูกป่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากการพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าไทยมีพื้นที่ 26 ล้านไร่ที่สามารถปลูกป่าได้ แต่ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมได้ แนวทาง คือ ปัจจุบันมีการจ่ายปันผลทุกปีสำหรับบริษัทมหาชน หากเพิ่มปันผลที่จ่ายออกไป 3% และเอาเงินตรงนั้นย้อนกลับมาปลูกป่า จะสามารถปลูกป่า 26 ล้านไร่ ได้ภายในปี 2593 เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้ปั้นโครงการนี้ขึ้นมาให้ได้โดยเริ่มจาก NRF
“เป้าหมายปานกลาง - ระยะยาว ยังมาจากธุรกิจของ NRF เอง คือ โปรตีนทางเลือก ตอนนี้บริษัทฯ กำลังสร้างโรงงานในภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ไทย จีน อเมริกาใต้ อินเดีย ภายใน 10 ปีข้างหน้า ภายใต้งบ 5,000 – 7,000 ล้านบาทตั้งเป้าหมายกำลังการผลิต Plant based food ใน 3 ปีแรก อยู่ที่ประมาณ 1 แสนตัน หากคำนวณตัวเลขใช้แฮมเบอร์เกอร์เป็นตัวอย่าง การเลือกทานแฮมเบอร์เกอร์จาก Plant based ลดคาร์บอนได้ถึง 3.3 กิโลคาร์บอน ดังนั้น
การผลิตและบริโภค Plant based แทนเนื้อสัตว์ 1 แสนตัน จะลดคาร์บอนได้ 3.3 แสนตันคาร์บอนต่อปี
NRF ยังขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิก สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) อยู่ระหว่างทำโครงการเป้าหมายให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตโปรตีนทางเลือกของโลก พร้อมจัดตั้ง “Root the Future” องค์กรไม่แสวงหากำไร 100% ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาทาน Plant-based food และทำอย่างไรให้ตระหนักในสภาวะโลกร้อน ผ่านมา 1 ปี ในวันนี้มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคน คอนเทนต์เข้าถึงประชาชน 4.4 ล้านคนต่อสัปดาห์ พร้อมกับ สนับสนุนมูลนิธิ , NGO ทั่วโลก และ Forum for The Future ในการศึกษาผลกระทบของระบบอาหาร รวมถึงในมุมของนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในบริษัท โดยคำนึงถึงเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายท้องถิ่นของ UN global compact ที่มีสมาชิกทั่วโลก 13,331 องค์กร จาก 165 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีเป้าหมาย วิธีคิด เดียวกัน ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกรอบการทำงาน คิดกลยุทธ์ เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
“แดน” กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การตระหนักและการกระตือรือร้นในการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ต้องรอให้ปัญหาเกิดก่อนถึงจะแก้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สร้างการรับรู้ได้เร็ว รวมถึง
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้จำหน่ายสารเคมี สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนแปลง
“การที่เราจะเปลี่ยนโลกนั้นยาก ดังนั้น อีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือ นักลงทุนสถาบัน กองทุนจะต้องเปลี่ยน ตอนนี้
นักลงทุนอาจจะคิดเรื่องผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
“เราสามารถทำธุรกิจได้ และรู้สึกภูมิใจว่าไม่ได้แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนในการช่วยสังคม สิ่งที่คาดหวัง คือ เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทเปลี่ยนความคิดของคนในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย คือ
ทำอย่างไร ให้ช่วยลดคาร์บอนของโลก คาดหวังว่าสักวัน NRF จะเป็น The first carbon negative company ในประเทศไทย”แดน กล่าวทิ้งท้าย