สัปดาห์นี้ วัคซีนโควิด-19 ส่งมอบ 3 ล้านโดส
“อนุทิน” เผยสัปดาห์นี้วัคซีนโควิด-19 มีมากว่า 3 ล้านโดส “แอสตร้าเซนเนก้า” ส่งมอบกว่า 2 ล้านโดส ซิโนแวค 1 ล้านโดส ย้ำวัคซีนชนิด mRNA ปี 64 ในส่วนรัฐจัดหาบริษัทแจ้งมีให้ 20 ล้านโดส ส่วนปีหน้าเจรจาทุกบริษัทอยู่แล้วรองรับสายพันธุ์ต่าง ๆ
30 มิ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สัปดาห์นี้ ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส ส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข้ามา 2 รอบ แบ่งเป็นวันที่ 28 มิ.ย. จำนวน 800,000 โดส และจะเข้ามาวันที่ 2 ก.ค. อีก 1.4 ล้านโดส ซึ่งไม่อยากให้กำหนดเป็นเดือนๆ เพราะวัคซีนเข้ามาทุกสัปดาห์ และกรมควบคุมโรคก็เร่งกระจายไปอย่างรวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและศบค.ให้จัดหาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนการจัดหาของรัฐที่ได้เจรจากับบริษัท ไฟเซอร์นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาขั้นสุดท้ายในสัญญาซื้อขาย หลังจากก่อนหน้านี้ได้เซ็นต์เงื่อนไขในร่างสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างอัยการสูงสุดพิจารณาซึ่งบางข้อความในสัญญารับได้และบางข้อความรับไม่ได้ ก็ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) เร่งเจรจาไม่ให้กระทบกับช่วงเวลาในการส่งมอบวัคซีนที่ระบุว่าจะส่งมอบได้ในไตรมาส 4 ของปี 2564 เพราะมีการระบุไว้ในร่างสัญญาจะซื้อจะขายอยู่แล้ว
“วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ใกล้มือที่สุด ก็คือ 20 ล้านโดสที่มีการเจรจากับไฟเซอร์ และหวังให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA สำเร็จ ซึ่งมีการทดลองคืบหน้าไปไกลมากแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนยี่ห้อใด วิธีไหน มีคณะกรรมการวิชาการพิจารณาอยู่ ซึ่งหากมีข้อสรุปออกมาเช่นไรก็ต้องทำตาม เร่งนำเข้าครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด” นายอนุทินกล่าว
ถามต่อว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติมมากว่า 20 ล้านโดสภายในปีนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า บริษัทแจ้งว่าสำหรับปี 2564 จัดสรรให้ได้เท่านี้ ส่วนการจัดหาวัคซีนสำหรับปี 2565 นั้น ได้มีการหารือกับทุกบริษัทผู้ผลิต เพื่อรองรับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนใดที่ผลิตขึ้นมาครอบคลุมสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย) เพียงแต่ยังสามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตได้ วัคซีนทุกชนิดยังยืนอยู่ในการป้องกันนี้ในตอนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะเจรจาขอซื้อวัคซีน mRNA ต่อจากรัฐบาลบางประเทศที่มีวัคซีนเหลือ เช่นที่ประเทศโรมาเนียจะขายให้ประเทศเดนมาร์ก นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูตามกฎหมายว่าระบุอย่างไร ผู้นำเข้าวัคซีนได้จะต้องเป็นใคร เช่นต้องเป็นผู้ได้รับการจดทะเบียนให้นำเข้ามาเท่านั้น อย่างจะซื้อวัคซีนชนิด mRNA ก็ต้องติดต่อกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทยเท่านั้น แม้กระทั่ง วัคซีนที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้ 1.5 ล้านโดสในสัญญาก็ต้องมีบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะต้องเอามาจากโรงงานของไฟเซอร์ ไม่ได้นำมาจาสต็อกที่ไหน เนื่องจากทุกวันนี้วัคซีนทุกขวดในประเทศไทย ต้องวิ่งตรงมาจากโรงงาน ไม่ได้ออกจากโกดังที่ไหน ออกจากโรงงานก็ขึ้นเครื่องมาเมืองไทย ซึ่งเป็นการการันตีความปลอดภัยว่าวัคซีนไม่ได้หลุดไปอยู่ที่อื่นมาก่อน
“ในส่วนของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่เดิมมีแผนจะจัดหา 5 ล้านโดสและเตรียมลงนามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ก็ได้พยายามเร่งรัด แต่ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตประสบปัญหา อันนี้เป็นความผิดเราหรือไม่ คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหา เมื่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติและคณะกรรมการวิชาการเตือนก็ต้องรับฟัง เพราะจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง” นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีการใช้ทั่วโลกขณะนี้มี 2 ยี่ห้อ คือไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยในส่วนของวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศนั้น เป็นวัคซีนทางเลือก ที่จะจำหน่ายและให้บริการโดยรพ.เอกชน ซึ่งจะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวกลางนำเข้ามาให้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ อภ.ได้รับแจ้งว่า จะได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัท ซิลลิก ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย จำนวน 5 ล้านโดส และจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 - ม.ค.2565 ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่รพ.เอกชนอยู่ระหว่างการเปิดให้จองและสรุปยอดจอง ก่อนนำจำนวนสั่งซื้อแจ้งต่ออภ.ภายในเดือน ก.ค. เพื่อประสานต่อไป